ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ข่าวฟิทช์ลดเครดิตกรีซ หนุนทองคำปิดพุ่ง $16.50

ข่าวต่างประเทศ Saturday May 21, 2011 08:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นเหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป หลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับขยะ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 16.50 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,508.9 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,486.40 - 1,515.80 ดอลลาร์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 15.5 เซนต์ ปิดที่ 35.087 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 6.9 เซนต์ ปิดที่ 4.1215 ดอลลาร์/ปอนด์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.ปรับตัวขึ้น 40 เซนต์ ปิดที่ 1,769.40 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 7.35 ดอลลาร์ ปิดที่ 735.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง 3 ขั้น สู่ระดับ "ขยะ" พร้อมกับเตือนว่าการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะทำให้กรีซต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้

สภาทองคำโลก (WGC) คาดว่า แนวโน้มความต้องการทองคำทั่วโลกจะยังคงแข็งแกร่งตลอดปี 2554 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก นอกจากนี้ คาดว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของยุโรป แรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั่วโลก และสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการทองคำ

มาร์คัส กรุ๊บบ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนของ WGC กล่าวว่า การฟื้นตัวของทองคำในช่วงที่เกิดภาวะผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์นั้น นับเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดทองคำทั่วโลก โดยข้อมูลของ WGC ระบุว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2554 มีอยู่ทั้งสิ้น 981.3 ตัน เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่า 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีของปี 2553 ที่ระดับ 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ