(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย GDP Q1/54 โต 3%, Q2/54 อุตฯ-เกษตรชะลอ เงินเฟ้อสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 1/54 เติบโต 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยจากการส่งออกขยายตัว ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น ท่องเที่ยวเติบโตดี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/54 ขยายตัวได้ดีที่ 3.0% โดยได้รับแรงส่งจากการขยายตัวทั้งอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์มีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวสูงของการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีการขยายตัวได้ดี

ด้านอุปทานเป็นการขยายตัวของภาคเกษตร โรงแรมและภัตตาคาร และการเงินและธนาคาร ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/54 คาดว่าสาขาอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอลง โดยมีปัจจัยหลักคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และ แนวโน้มการชะลอลงของการผลิต ฮาร์ด ดิสค์ ไดรฟ์ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่

ขณะที่สาขาเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากฐานของปริมาณผลผลิตซึ่งอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้คาดว่าผลผลิตในไตรมาส 2 จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านเงินเฟ้อคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงกว่าไตรมาส 1/54

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัว ประกอบด้วย จำนวนนักท่องเที่ยวเดือนเมษายนสูงถึง 1.49 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อติดต่อกัน 4 ไตรมาส และการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

นายอาคม กล่าวถึง แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีคาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่าในครึ่งแรกของปี เป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนั้นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติและเร่งการผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ