(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คาดปี 54 GDP คงไว้ที่ 3.5-4.5% แม้เพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยใน ปี 54 เติบโต 3.5-4.5% จากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สภาพคล่องระบบบเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุน อีกทั้งศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เท่ากับการประมาณการในการแถลงครั้งก่อน แต่ได้ปรับองค์ประกอบการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อสมมติฐาน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% เทียบกับ 7.8% ในปี 53 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3.0-3.8% เทียบกับ 3.3% ในปี 53 และ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.1% ของ GDP ลดลงจากการเกินดุล 4.6% ของ GDP ในปี 53

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 54 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.8-4.2% เป็นการคงประมาณการจากครั้งก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัว 6.7-7.7% เพิ่มประมาณการจากครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 6.6-7.6% เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไตรมาส 1/54 ขยายตัว 2.3% จึงคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ 2.8%

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 1/54 ขยายตัว 2.5% ดังนั้นจึงปรับเพิ่มประมาณการทั้งปีเป็น 1.6% จากเดิมที่ 1.4% ขณะที่กลุ่มประเทศ PIIGS บางประเทศยังคงหดตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่างๆ เช่น หนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับสูงและการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่อนข้างช้า ซึ่งส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง, อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 1/54 หดตัว 1.0% เป็นผลจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และคาดว่าในไตรมาส 2/54 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนในครึ่งหลังของปี 54 คาดว่ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเหลือ 1.1% จาก 1.3% ส่วนเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/54 ขยายตัว 9.7% จึงคงประมาณการที่ 9.0%

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 54 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 98-107 ดอลลาร์ ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 85-95 ดอลลาร์ และคาดว่าราคาน้ำมันยังมีความผันผวนในช่วงที่เหลือของปี และมีปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแอฟริกาเหนือและตะวันออกลาง และการเก็งกำไรจากราคาน้ำมันของกองทุนต่างๆ

ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 7.2% และ 8.5% ตามลำดับ และ อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 29.5-30.5 บาท/ดอลลาร์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนประมาณ 18.0 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 16.8-17.0 ล้านคน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.4 ล้านคน สะท้อนถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นสูงในการเดินทางมาประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

*สภาพัฒน์แนะประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 54

นายอาคม ระบุว่า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสองปัจจัยหลัก คือ กำลังซื้อในชนบทอันเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายดูแลรายได้เกษตรกรและเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และกำลังซื้อจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดังนั้น ในระยะต่อไป จึงควรสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเน้นมาตรการเสริมทางด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร และการตลาดเชิงรุกสำ หรับภาคเกษตร และการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ขณะที่แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงแม้จะลดลงในช่วงสั้นๆ ซึ่งยังคงมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ จึงควรดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลข่าวสารราคาสินค้ากับผู้บริโภคและเสริมด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประหยัดหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ควรจะให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการพัฒนาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาพลังงานทดแทน การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลิตและพัฒนาคุณภาพกำลังคนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาทางด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เนื่องจากปริมาณการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและการค้ากับประเทศในอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงควรเร่งรัดแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งด้านคมนาคมขนส่งและด้านการอำนวยความสะดวกสินค้าข้ามพรมแดนในระบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) และเตรียมความพร้อมของภาครัฐ ภาคเอกชน และประเทศในการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ