กฟผ.เร่งสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ-วังน้อยเพื่อนำไฟเข้าระบบเร็วกว่าแผน 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 24, 2011 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 จะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.57 โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 ได้เร่งรัดให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเร็วกว่าแผนเดิมในเดือน ก.ค.57 ส่วนโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 อยู่ระหว่างการอนุมัติการจัดจ้างผู้รับเหมา แต่การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้อนุมัติเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะเริ่มดำเนินการได้กลางปีนี้

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 จ.สงขลา มีกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 จ.พระนครศรีอยุธยา มีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573(PDP 2010) เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

นอกจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้ระบบการผลิตจากก๊าซธรรมชาติแล้ว ในอนาคตคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนระบบผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ได้

ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 อยู่ในแผนงานเดือน เม.ย.58 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปีหน้า เมื่อรวมมูลค่าการลงทุนก่อสร้างแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 66,000 ล้านบาท หรือแห่งละประมาณ 22,000 ล้านบาท สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงจะนำเข้ามาใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกหลายฝ่ายคัดค้าน จากแผนเดิมกำหนดให้ปี 2557-2559 จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบประมาณ 4,000 เมกะวัตต์

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ คือ อ่าวไทยร้อยละ 63 สหภาพพม่าร้อยละ 25 และแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ)ร้อยละ 12 ซึ่ง กฟผ.มีต้นการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.75-2.80 บาทต่อหน่วย ที่รวมต้นทุนราคาก๊าซฯและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)แล้ว

นอกจากนี้ กฟผ.มีแผนดึงโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่มีกำลังการผลิตต่อโรงไม่ต่ำกว่า 800 เมกะวัตต์ เข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลื่อนแผนการก่อสร้างออกไป 3 ปี จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าบางปะกงต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครใต้เก่าที่จะปลดระวาง จะมีการรื้อถอนโรงไฟฟ้าเก่าออกแล้วก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าไปทดแทนและต้องพิจารณากำลังการผลิตอีกครั้ง คาดว่าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะเริ่มก่อสร้างให้เสร็จทันเข้าระบบทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 65,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ทำให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบในหลายชนิดพลังงานทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่จะปลดระวางไปประมาณ 52,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหนีไม่พ้นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาด โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือการพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในส่วนของ กฟผ.มีแผนดึงพลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับพลังงานถ่านหินสะอาด กฟผ.ศึกษาในหลายพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจกับประชาชนว่ามีความสะอาดและปลอดภัยใกล้เคียงกับโรงก๊าซฯ รวมถึงมีราคาเชื้อพลิงที่ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าต้นทุนการก่อสร้างจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซฯ โดยก่อสร้างเมกะวัตต์ละ 1.5-2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซฯก่อสร้างเมกะวัตต์ละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเฉลี่ยต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ คาดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกจะเข้าระบบในปี 2562 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) จำนวน 9 โรง รวมกำลังการผลิต 7,200 เมกะวัตต์ ในทางกลับกันหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถก่อสร้างจากกระแสต่อต้านของสังคม อาจดึงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)เข้ามาผลิตไฟฟ้าแทน แต่จะมีต้นทุนราคาสูงขึ้นกว่าถ่านหินสะอาด เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตราคาก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการใช้ทั่วโลกที่สูงต่อเนื่อง

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ประชาชนทั่วโลกรอผลการตรวจสอบการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกุชิมะว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะหลายฝ่ายมีความวิตกกังวลมาก ซึ่งประเทศไทยจะนำข้อสรุปที่ได้มาเดินสายสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น ระหว่างที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลื่อนออกไป เพื่อให้รับทราบถึงข้อดีข้อเสีย ขณะเดียวกัน กฟผ.จะเร่งให้ความรู้กับประชาชนเรื่องพลังงานทางเลือกควบคู่กันไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ