In Focusเก้าอี้ผู้นำไอเอ็มเอฟ...สมบัติที่ต้องผลัดกันชม (บ้าง)

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 25, 2011 13:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชื่อของนายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก หลังจากที่เขาถูกจับกุมตัวข้อหาล่วงละเมิดทางเพศพนักงานทำความสะอาดของโรงแรมแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของชายวัย 62 ปีผู้นี้กันอย่างสนุกปาก แต่เมื่อเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ชื่อของเขาก็จางหายไปจากห้วงคำนึงของใครหลายคนอย่างรวดเร็ว บัดนี้เรื่องคดีความของนายสเตราส์-คาห์น กลายเป็นเพียงอาหารเรียกน้ำย่อย แต่อาหารหลักที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ “ใครจะมาเป็นผู้นำไอเอ็มเอฟคนต่อไป"

ยุโรปเกาะเก้าอี้แน่น หวังผูกขาดอำนาจ

ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลกจะมาจากสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้บริหารระดับสูงของไอเอ็มเอฟจะมาจากยุโรป เมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟว่างลง บรรดาผู้นำยุโรปจึงรีบออกมารักษาสิทธิ์ของตน ด้วยการประกาศสนับสนุนให้ผู้แทนจากยุโรปได้เป็นผู้กุมบังเหียนไอเอ็มเอฟต่อไป อย่างนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ออกมาประกาศว่าต้องการให้ตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยังคงเป็นของชาวยุโรป พร้อมกับโน้มน้าวชาติสมาชิกสหภาพยุโรปให้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ขณะที่นางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็เห็นว่าผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนใหม่ควรเป็นชาวยุโรป เพราะไอเอ็มเอฟมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ก็รีบออกมากันท่าประเทศนอกยุโรปว่า แม้บรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น แต่คงต้องรอเวลาอีกสักพักกว่าที่ไอเอ็มเอฟจะมีผู้นำที่มาจากซีกโลกอื่น

สำหรับตัวแทนจากยุโรปที่เป็นตัวเก็งนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนใหม่นั้น คงหนีไม่พ้นนางคริสติน ลาการ์ด วัย 55 ปี อดีตนักกฎหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน เธอได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้นำยุโรปรวมถึงอีกหลายประเทศนอกยุโรป ด้วยมีคุณสมบัติเหมาะสมและมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางทั้งในด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน โดยนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี, นายอังเดรส์ บอร์จ รัฐมนตรีคลังสวีเดน, นายยาน คี เดส์ เยเกอร์ รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์, นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และอีกหลายประเทศ ต่างออกมาให้การสนับสนุนนางลาการ์ด และอังกฤษก็เป็นชาติแรกในกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-7) ที่เสนอชื่อนางลาการ์ดให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟอย่างเป็นทางการ โดยนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวว่าลาการ์ดเหมาะสมที่สุดกับตำแหน่งนี้ และเขาเองก็ต้องการเห็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 60 ปีของไอเอ็มเอฟด้วย

นอกจากนางลาการ์ดแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ได้รับการกล่าวถึงว่าอาจมีการเสนอชื่อขึ้นเป็นตัวแทนจากภูมิภาคยุโรปเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟ อาทิ นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), นายดิดิเยร์ เรย์นแดร์ส รัฐมนตรีคลังเบลเยียม และอื่นๆ แต่กระแสไม่แรงเท่านางลาการ์ด ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนกว้างขวางที่สุด

ประเทศนอกยุโรปเรียกร้องสิทธิ หวังมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก

แต่ไหนแต่ไรมาตัวแทนจากประเทศต่างๆในยุโรปจะแข่งขันกันเองในการชิงเก้าอี้ผู้บริหารไอเอ็มเอฟ แต่ในครั้งนี้ บรรดาประเทศนอกยุโรปต่างลุกฮือขึ้นมาขอมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ด้วยการเรียกร้องให้ไอเอ็มเอฟยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้ผู้แทนจากยุโรปเท่านั้นที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งผู้นำของไอเอ็มเอฟ โดยให้เหตุผลว่ายุโรปเริ่มมีบทบาทลดลงในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศตลาดใหม่โดยเฉพาะในเอเชียเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ประเทศเหล่านี้จึงสมควรได้รับโอกาสในการบริหารองค์กรระดับโลกบ้าง โดยนายซีซาร์ พูริซิมา รัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์ ได้แสดงทรรศนะอย่างน่าสนใจว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เอเชียสามารถฝ่าฟันปัญหาหนี้สินได้ด้วยตนเอง ดังนั้นเชื่อว่าผู้แทนจากเอเชียจะสามารถช่วยให้ยุโรปผ่านพ้นวิกฤตหนี้สินไปได้เช่นกัน

บรรดาผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศนอกยุโรปต่างตบเท้าออกมาเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับ อย่างนายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวเป็นนัยว่าไอเอ็มเอฟควรให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่มากกว่าเดิม และการเลือกผู้นำองค์กรระดับโลกอย่างไอเอ็มเอฟควรเป็นไปอย่างเปิดกว้างและพิจารณาจากความสามารถในการทำงาน ด้านนายธาร์มาน ชานมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการเงินและการคลังระหว่างประเทศ (IMFC) ของไอเอ็มเอฟ ก็ออกมาเรียกร้องให้กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่เป็นไปอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และเป็นธรรม ขณะเดียวกันนายเวย์น สวอน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย เห็นว่าการเลือกสรรผู้อำนวยการคนใหม่ของไอเอ็มเอฟควรพิจารณาจากคุณงามความดี ไม่ใช่สัญชาติ และไอเอ็มเอฟควรให้โอกาสผู้แทนจากประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ดำรงตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นในองค์กรบ้าง ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลังของไทย ก็สนับสนุนให้ผู้แทนจากอาเซียนได้เป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของไอเอ็มเอฟ ขณะที่นายอานิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ก็ต้องการให้ผู้นำไอเอ็มเอฟมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน

สำหรับผู้แทนจากนอกยุโรปที่มีหน่วยก้านพอจะลงชิงตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟได้คือ นายธาร์มาน ชานมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ที่ได้เสียงสนับสนุนจากอาเซียน โดยนายชานมูการัตนัมเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี เขาเป็นรัฐมนตรีคลังสิงคโปร์มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 และเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางเมื่อปี 2544 และผู้แทนจากนอกยุโรปอีกคนที่น่าสนใจคือ นายออกัสติน คาร์สเทนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก ซึ่งเคยเป็นรองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ 3 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีคลังเม็กซิโก ตามมาด้วยการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก โดยกระทรวงการคลังเม็กซิโกยืนยันว่าเขามีความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมในการเป็นผู้นำไอเอ็มเอฟ และหลายฝ่ายเชื่อว่านายคาร์สเทนส์จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากประเทศนอกยุโรป

ความหวังอันริบหรี่

แม้ประเทศนอกยุโรปจะลุกฮือขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่ผู้แทนจากประเทศนอกยุโรปจะได้เป็นผู้นำไอเอ็มเอฟนั้น "มีน้อยมาก" เนื่องจากยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการออกเสียงมากที่สุดในคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ ที่ 35.6% ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก 20.93% และสหรัฐอเมริกา 16.8% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหากประเทศนอกยุโรปได้รับเสียงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ก็ยังพอจะมีความหวังบ้าง แต่โชคร้ายที่สหรัฐไม่ได้ออกมาสนับสนุนเสียงเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา โดยนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเพียงว่าต้องการเห็นกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างซึ่งจะนำไปสู่การได้ตัวผู้บริหารคนใหม่โดยเร็วที่สุด ซ้ำร้ายนายจอห์น ลิปสกี รักษาการผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ยังออกมาสนับสนุนว่านางลาการ์ดมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำไอเอ็มเอฟด้วย

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟจะเปิดให้มีการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม ถึงวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ซึ่งหากชื่อที่ได้รับการเสนอมีมากกว่า 3 ชื่อ คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟจะคัดกรองและทบทวนคุณสมบัติจนเหลือเพียง 3 ชื่อ ก่อนที่จะทำการเลือกและแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับเสียงโหวตสนับสนุนเป็นเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกของคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 24 คน ...ต้องติดตามกันต่อไปว่า นางลาการ์ดจะได้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนใหม่ สมใจบรรดาชาติยุโรปหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ