คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์(MW) เพื่อลดปัญหาการจัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน
"ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อประกอบการขออนุญาต ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ขณะที่การประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ไม่เข้าข่ายกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA" นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ.กล่าว
ประธาน กกพ.กล่าวว่า กกพ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ โดยกำหนดมาตรการจูงใจด้านราคาแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านทางส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) ส่งผลให้มีผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวนมากยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น กกพ.จึงเห็นควรให้มีการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติงาน(Code of Practice:CoP) ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อกำหนดมาตรฐานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นระบบ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการต่อต้านและคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าจากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ CoP ถือเป็นแนวทางในการกำกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ โดยครอบคลุมตั้งแต่ระยะก่อนก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ รวมไปถึงกรณีที่มีการเลิกการประกอบกิจการ โดยเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่ง CoP จะมีหลักการปฏิบัติที่แตกต่างกันตามประเภทของเชื้อเพลิงและกระบ วนการผลิต
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) ได้ดำเนินการยกร่าง "ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยประมวลหลักการปฏิบัติงาน(Code of Practice:CoP) ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์" และจัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราว 200 คน เพื่อนำความคิดเห็นที่รวบรวมได้ไปปรับปรุงร่างระเบียบฉบับนี้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอ กกพ.พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป