"กรณ์"เล็งตั้งเป้าตลาดทุนไทยศูนย์กลางระดมทุนอินโดจีน,หนุนควบ AFET-TFEX

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 27, 2011 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยว่า ในช่วง 18 เดือนของการทำงานหลังการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มีความร่วมมือกันด้วยดี โดยมีมาตรการหลายเรื่องที่จัดทำแล้วเสร็จตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย

ขณะเดียวกัน ตลาดทุนไทยควรมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นแผนพัฒนาตลาดทุนไทยต้องมีความเป็นพลวัต สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และ landscape ที่สำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดทุนไทยอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ควรจะมีการกำหนดเป้าหมายของการเป็นผู้นำของประเทศไทย โดยเห็นว่าขณะนี้มี 2 ด้านที่ต้องเร่งพัฒนาเพื่อการเป็นผู้นำ คือ การเป็นศูนย์กลางการระดมเงินเพื่อลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน โดยใช้กลไกของตลาดทุนเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นผู้นำส่งออกสินค้าหลัก เช่น ยางพารา ข้าว โดยควรเร่งควบรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) กับ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) แม้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ยอมรับเรื่องนี้ ดังนั้นคงต้องรอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป

"ที่ผ่านมาพยายามโน้มน้าวให้กระทรวงพาณิชย์เห็นตรงกัน ก็ต้องรอดูว่า รมต.พาณิชย์คนใหม่จะรับฟังคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนแค่ไหน และรัฐบาลใหม่หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ทำให้เราเสียโอกาส เหมือนที่มาเลเซีย ได้กลายเป็นผู้นำการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าน้ำมันปาล์มมาแล้ว" นายกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเห็นควรให้มีการปรับปรุงแผนพัฒนาตลาดทุนไทยใน 11 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในตลาดทุนโลก, การอนุญาตให้ บล.สามารถทำธุรกรรมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้,การกำหนดขอบเขตการทำธุรกรรมด้านตลาดทุนของธนาคารพาณิชย์ และการใช้ประโยชน์จาก distribution channel ของธนาคารพาณิชย์เพื่อพัฒนาตลาดทุน,

การสร้าง infrastructure เพื่อรองรับ retail bond markets, การปฎิรูปหน่วยงานกำกับดูแล (regulator reforming), ผลกระทบของการออกกองทุนวายุภักษ์ 2, การเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) กับ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX), การเพิ่มประสิทธิภาพ post-trade service, การรับชำระราคาธุรกรรมอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC derivatives clearing), การปรับตัวของธุรกิจหลักทรัพย์, บทบาทของตลาดทุนด้าน sustainability (Finance of environment)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ