พาณิชย์ เดินหน้าจัดสัมมนาเพิ่มโอกาสการค้า หลังส่งออกไปอาเซียน Q1/54 เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2011 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2554 ไทยส่งออกไปอาเซียนกว่า 12,598.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 10,531.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 19.63 และมีการใช้สิทธิพิเศษภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 4,102.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.53 จากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 3,167.31 ล้านเหรียญสหรัฐ

เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ถือเป็น FTA แรกของไทย ที่มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของอาเซียนในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และเพื่อขยายการค้าโดยการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันสมาชิกอาเซียนได้ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นศูนย์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และมีเป้าหมายไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558 หรือในอีก 4 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาเซียนจึงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย

ปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ แล้ว รวม 5 ความตกลงได้แก่ FTA อาเซียน - จีน / อาเซียน - ญี่ปุ่น/ อาเซียน - เกาหลี / อาเซียน - อินเดีย/อาเซียน — ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

สำหรับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area : ACFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 โดยไตรมาสแรกของปี 2554 มีมูลค่าการค้า 13,109.95 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 26.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ที่มีมูลค่าการค้า 10,336.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญไปจีน ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

ในส่วนของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ประเทศไทยพร้อมประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามร่วมกับเกาหลีใต้ ในพิธีสารการเข้าเป็นภาคีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 นั้น ไทยจะได้ประโยชน์จากเกาหลี ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้า ให้เหลือศูนย์ ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ โดยในไตรมาสแรกของปี 2554 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 3,164.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 3,086.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 2.53 สินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิ FTA ได้แก่ ได้แก่ ยางธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ยางแผ่นรมควัน คอมเพรสเซอร์ และกากน้ำอ้อย เป็นต้น

นายสุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2554 กรมการค้าต่างประเทศมีโครงการที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการที่ประเทศคู่ค้าได้เปิดตลาดภายใต้ความตกลง FTA ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ ที่มีบทบาทมากในภาคตะวันออก อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวก่อให้ก่อเกิดการขยายตัวในด้านจำนวนโรงงาน จำนวนเงินทุน และ การจ้างงาน

นอกจากนี้ จังหวัดชลบุรียังเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และแหล่งอุตสาหกรรมโรงงาน สำคัญ ๆ ที่สร้างรายได้จำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยม และ อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ