นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.54 ว่า ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ในเดือนเมษายน 54 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ขยายตัวชะลอลงส่วนหนึ่งเพราะการผลิตรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนหดตัวเป็นผลจากอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนนี้ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 12.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวของการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอลงหลังจากเร่งขึ้นมากในเดือนก่อนจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงตามการผลิตรถยนต์ที่ลดลงจากผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนเพื่อการพาณิชยกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ยังขยายตัวจากโครงการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ
สำหรับภาครัฐยังคงมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 5.5 พันล้านบาท
นายเมธี กล่าวว่า อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง โดยรายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.9 จากทั้งด้านผลผลิตและด้านราคา ผลผลิตเกษตรขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.2 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าฤดูปกติจากการเพาะปลูกเร็วขึ้นหลังจากอุทกภัยในปลายปีก่อนคลี่คลายลง ประกอบกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 22.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ขยายตัวและปริมาณสต็อกที่ลดลงในฤดูผลัดใบ ด้านการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7