In Focusจับตาอนาคตยุโรป หลังวิกฤติหนี้กรีซทุบตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 1, 2011 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีกระต่ายได้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังเหมือนคนป่วยที่นอนซมด้วยพิษไข้จากเมื่อปี 2553 สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 3 ขั้วมหาอำนาจ คือ วิกฤติหนี้ยุโรป ปัญหาการคลังของสหรัฐ และสถานการณ์เงินเฟ้อของจีน แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือ ยุโรป

ด้วยเหตุที่ว่ากระแสหลักของตลาดการเงินมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งด้านการคลังของประเทศมหาอำนาจ จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาวในปีที่แล้วเมื่อมีข่าวว่า กรีซ ซึ่งเคยถูกคนทั้งโลกมองดูด้วยความอิจฉาจากการได้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลกเมื่อปี 2547 ออกมายอมรับอย่างอกไหม้ไส้ขมว่า รัฐบาลต้องขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟและอียู 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เพราะนี่เป็นวงเงินสูงสุดเท่าที่ประเทศอื่นๆได้รับมา ทำให้ไอเอ็มเอฟต้อง "ยื่นคำขาด" ให้กรีซใช้จ่ายและเข้มงวดกับวินัยด้านการคลัง ยาขมหม้อใหญ่ที่ไอเอ็มเอฟยื่นให้นี้ ทำให้กรีซเองต้องเข้มงวดกับคนในประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรุนแรงที่ทำเอาคนทั่วโลกอกสั่นขวัญหายไปตามๆกัน

ข่าวกรีซยอมกู้เงินไอเอ็มเอฟเพื่ออุดรอยรั่วการคลังในครั้งนั้น ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าวิกฤติหนี้อาจลุกลามไปไกลถึงสเปน โปรตุเกส และแม้แต่เสือเศรษฐกิจแห่งเซลติกอย่างไอร์แลนด์... มาจนถึงปีนี้ วิกฤตหนี้ยุโรปยังตามหลอกหลอนตลาดหุ้น จนทำให้กองทุนจำนวนมากย้ายฐานออกจากตลาดหุ้นและขนเงินไปพักไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงอย่างตลาดทองคำ

อันที่จริงวิกฤติหนี้ยุโรปไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปัญหาหนี้ซึ่งเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ของทวีปที่เป็นต้นกำเนิดของนักล่าอาณานิคมแห่งนี้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2550 หากยังจำกันได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแบบเทกระจาดเมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า ฮังการี ดอดเข้าไปเจรจากับไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแก้วิกฤตการคลังและหนี้สาธารณะ

อาจกล่าวได้ว่าปี 2554 เป็นปีที่วิกฤติหนี้ยุโรปตามมาซ้ำเติมตลาดโลกอย่างแท้จริง เมื่อกรีซต้องเอ่ยปากขอกู้เงินจากไอเอ็มเอและอียูอีกรอบ เนื่องจากหนี้สาธารณะสูงมาก จนทำให้กรีซเองและผู้นำยุโรปหวั่นเกรงว่า กรีซอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้และต้องผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด แต่ความรู้สึกของนักลงทุนคราวนี้ไม่เหมือนกับคราวก่อน เพราะวิกฤติหนี้กรีซครั้งนี้น่าสะพรึงกลัวและได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นรอบๆยูโรโซนแล้ว ตลาดการเงินตื่นตระหนกมากขึ้นเมื่อนิตยสาร "แดร์ สปีเกิล" ของเยอรมนี ออกมาปล่อยข่าวว่าวิกฤติหนี้ของกรีซทำให้กรีซคิดที่จะเลิกใช้สกุลเงินยูโร และหันไปใช้กรีซจะกลับไปใช้สกุลเงินดราชมา (drachma) เพื่อไม่ให้วิกฤติของตนเองต้องฉุดรั้งประเทศอื่นในยูโรโซนเข้าไปติดบ่วงหนี้ด้วย

แต่ตราบใดที่กรีซยังใช้เงินยูโรและตั้งอยู่บนดินแดนยูโรโซน ปัญหาของกรีซก็เหมือนปัญหาของคนในบ้าน ผู้นำยุโรปจึงจัดประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กรีซและเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติลุกลามออกไปไกลกว่านี้

ในตอนแรกนั้น เยอรมนีที่เคยคัดค้านการอุ้มกรีซมาตั้งแต่เงินช่วยก้อนแรกและยังคงต่อต้านมาจนถึงเงินช่วยเหลือครั้งใหม่นั้น ยืนกรานว่าจะไม่เอาด้วยกับงานนี้ ซ้ำยังเป็นหัวหอกบีบให้กรีซร่นเวลาการชำระหนี้พันธบัตรให้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องการเห็นกรีซจับเสือมือเปล่าด้วยการตีหน้าเศร้าเล่าเรื่องหนี้ เพียงเพื่อจะขนเงินในคลังของอียูไปถลุงตามอำเภอใจ และอีกทางเลือกหนึ่งก็คือต้องการผลักภาระทั้งหมดไปให้ไอเอ็มเอฟ แต่เหมือนไอเอ็มเอฟจะรู้เท่าทัน จึงยื่นคำขาด (อีกแล้ว) ว่า จะไม่ยอมให้ความช่วยเหลืองวดใหม่ให้กรีซเด็ดขาด หากอียูไม่ลงเรือเงินกู้ลำนี้ด้วยกัน

ในช่วงที่การตัดสินใจเรื่องกรีซยังคงค้างๆคาๆอยู่นั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงหนักติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ กระทั่งเมื่อคืนนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปรีบาวด์แรงมาก เมื่อพี่ใหญ่แห่งยูโรโซนอย่างเยอรมนี ยอมลดทิฐิด้วยการนำโมเดลช่วยเหลือกรีซกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะรวมถึงการยกเลิกการกดดันให้กรีซร่นเวลาการชำระหนี้พันธบัตรให้เร็วขึ้น และที่นักลงทุนขานรับอย่างท่วมท้นคือเมื่อนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้แสดงความหวังว่า กรีซน่าจะได้รับเงินช่วยรอบสอง

แต่ก็ใช่ว่าใครจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไปทั้งหมด ดูได้จากการออกมาแสดงความเห็นอย่างโจ่งแจ้งของประธานสมาคมผู้ส่งออกของเยอรมนีที่ว่า เขาเชื่อว่ากรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น เงินกู้จากไอเอ็มเอฟและอียูมีมูลค่ามหาศาลก็จริง แต่สถานะการคลังที่ติดลบจะทำให้กรีซต้องยื่นขอพักชำระหนี้สาธารณะ และนำไปสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อวันนั้นมาถึง ผู้ถือพันธบัตรของรัฐบาลกรีซจะได้ไถ่ถอนเงินคืนแบบไม่เต็มจำนวน จึงไม่แปลกหรอกที่เห็นข่าว ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซลงสู่ระดับ B+ ซึ่งเป็นระดับ "ขยะ" จากเดิมที่ระดับ BB+ เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ฟิลิป ซุทเทิล หัวหน้านักเศรษฐกิจจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ การที่ไอเอ็มเอฟอัดฉีดเงินช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินในยุโรป เป็นแค่การยืดเวลาการล้มละลายออกไปเท่านั้น และหากวิกฤตหนี้ยุโรปทำให้ สเปน ต้องกระอักเหมือนกับกรีซ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปและสกุลเงินสกุลยูโรถึงคราวอวสาน และนั่นจะทำให้การล้มละลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปในบัดดล ...ฟังแล้วหนาวไปถึงขั้วหัวใจ

แต่หากกล่าวโทษกรีซเพียงฝ่ายเดียวว่าทำให้เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอก็คงไม่ถูกนัก เพราะประเทศอื่นๆ รวมถึงเยอรมนีที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในยูโรโซน เศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงอย่างมากในระยะหลังๆ โดยสำนักงานสถิติสหภาพยุโรป หรือ ยูโรสแตท ระบุว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนที่หดตัวลง 0.2% ในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราว่างงานก็ยังสูงถึง 9.9% ในเดือนเม.ย. ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือผลพวงของความเลยเถิดในการใช้เงินคงคลังตามแบบเศรษฐกิจทุนนิยม รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณกันอย่างมันมือ

ในขณะที่มีการปล่อยกระแสคาดการณ์ในตลาดตั้งแต่เมื่อวานว่า กรีซน่าจะได้รับเงินช่วยเหลือรอบสอง เมื่อดูจากเสียงที่มีน้ำหนักของผู้ทรงอิทธิพลในยูโรโซนอย่างนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ เพราะการพูดบนโต๊ะเจรจาที่ว่า "การปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซไม่ใช่ทางเลือกในขณะนี้" ของบุคคลท่านนี้ก็ทำให้บรรยากาศการเจรจาเปลี่ยนไปจนถึงขนาดทำให้เยอรมนีรับฟัง ... แต่ "หนังเรื่องกรีซ" ยังไม่จบ และกว่าจะทราบผลว่ายุโรปจะช่วยกรีซหรือไม่นั้นก็ต้องรอจนถึงปลายเดือนมิ.ย. ยิ่งไปกว่านั้นหนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine Zeitung ของเยอรมนีเพิ่งรายงานสดๆร้อนๆในช่วงบ่ายวันนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ไอเอ็มเอฟจะไม่ให้เงินเพื่อเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือกรีซในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ...จึงต้องติดตามตอนต่อไปว่า หนังเรื่องกรีซจะจบอย่างไร? และฉากจบของหนังเรื่องนี้จะเป็นโศกนาฏกรรมทางการเงินที่ทำให้กรีซต้องอับเปหิตัวเองออกไปจากประชาคมสกุลเงินยูโรตามข่าวลือหรือไม่?


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ