(เพิ่มเติม) กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาที่ 3.00%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2011 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.75% เป็น 3.00% ต่อปี พร้อมคาดการณ์ว่าแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อระยะต่อไปยังสูงขึ้น และเงินเฟ้อพื้นฐานเสี่ยงหลุดเป้าในช่วงไตรมาส 3/54-ไตรมาส 4/54 แม้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

"กนง.จะติดตามแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม ตอนนี้นโยบายดอกเบี้ยยังไม่สิ้นสุด แบงก์ชาติพร้อมจะเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงแรงและเร็ว ก็พร้อมจะปรับขึ้นแรง"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย.สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามภาวะการจ้างงานที่ยังดีต่อเนื่อง รายได้เกษตกรและเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นผลจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าการผลิตน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ประเมินว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ยังคงเป็นแรงส่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในปี 54

แรงกดดันด้านราคาเร่งขึ้นมากกว่าที่คาดตามการปรับราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังทยอยปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจะยังคงเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังราคาสินค้าโดยทั่วไป ทำให้มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ออกนอกกรอบเป้าหมายได้

"กนง.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะเกินเป้าหมาย 0.5-3.0% ในช่วงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 แม้จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วก็ตาม เป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวขึ้น กรณีของไทยเป็นผลจากแรงกดดันด้านราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับตัวขึ้นเร็วและแรง...แต่ก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 1 ปีหน้า" นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีสัญญาณว่าการบริโภคได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจยุโรปคาดว่าจะยังขยายตัวได้ แต่มีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจน และอาจมีผลต่อแรงส่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอลงมากกว่าที่คาดจากผลของภัยพิบัติ แต่มีความชัดเจนขึ้นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกยังดีต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงต่อแรงกดดันด้านราคาของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ในระยะต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ยังมีความห่วงใยต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ และยังเห็นความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ขณะที่ไทยก็มีความไม่แน่นอนด้านการเมือง จึงมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ แต่แม้ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาที่ 3% แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพียงพอจะสนับสนุนการขยายตัวและไม่กระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ 0.7%

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เร่งตัวชึ้ยังไม่ถือเป็นภาระด้านต้นทุนต่อผู้ประกอบการให้สูงขึ้นมากนัก การทำนโยบายการเงินตั้งแต่ตอนนี้เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ในระยะยาวจะช่วยให้ต้นทุนการประกอบการเร่งตัวลดลง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในที่ประชุม กนง.วันนี้ยังไม่ได้พูดถึงการที่จะให้สถาบันการเงินมาช่วยกำกับด้านอัตราเงินเฟ้อ ส่วนนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐที่จมีผลต่อเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจต้องรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ แต่แรงกระเพื่อมเศรษฐกิจไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง อุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการส่งออกยังเข้มแข็ง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.54 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในวันนี้ที่ 4.19% ยอมรับว่าสูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ แต่การทำนโยบายการเงินมองปัจจัยข้างหน้าคือความเสี่ยงของการเร่งตัวเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ