(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI พ.ค.54 เพิ่มขึ้น 4.19% Core CPI เพิ่มขึ้น 2.48%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2011 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือนพ.ค.54 อยู่ที่ 112.39 เพิ่มขึ้น 4.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.34% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.45%

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือนพ.ค.54 อยู่ที่ 106.08 เพิ่มขึ้น 2.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.46% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.79%

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อ พ.ค.สูงขึ้น เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 8.38% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเหนียว ราคาเพิ่มขึ้น 24.44% ผลไม้สดเพิ่ม 24.16% ไข่ไก่เพิ่ม 22.02% โดยราคาไข่ไก่เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 3.40-3.70 บาท เนื้อหมูเพิ่ม 15.20% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กก.ละ 135-150 บาท อาหารสำเร็จรูปเพิ่ม 14.58% ส่งผลให้กับข้าวทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็นถุงละ 25-35 บาท ซึ่งพื้นที่ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น เช่น เขตเตาปูน ลาดพร้าว บางแค พรานนก ส่วนต่างจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ อุดรธานี น้ำตาลเพิ่ม 1.33% ราคาเฉลี่ยน้ำตาลตักขายในตลาดทั่วไปอยู่ที่ 25.28 บาท/กก.

ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.69% สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง 11.22% โดยราคาเบนซิน 91 เฉลี่ยพ.ค.อยู่ที่ 43.03 บาท/ลิตร เบนซิน 95 เฉลี่ย 49.39 บาท/ลิตร และดีเซล 29.99 บาท/ลิตร ค่าไฟฟ้าเพิ่ม 11% จากการปรับขึ้นของค่าเอฟที 80 สตางค์/หน่วย ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 1.10% เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม แป้งทาตัว ยาระงับกลิ่นกาย และผ้าอนามัย

"กลุ่มที่มีราคาแพงขึ้นคืออาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง และเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด โดยอาหารสำเร็จรูปมีน้ำหนักคำนวณเงินเฟ้อ 15.75% ส่วนเนื้อสัตว์มีน้ำหนัก 4.43% ประกอบกับเครื่องปรุงอาหารมีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันพืช ซอสมะเขือเทศ ทำให้ต้นทุนอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยนิยมกินอาหารสำเร็จรูปนอกบ้านมากกว่าการทำอาหารเองในบ้าน" นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนนี้ โดยสั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าไปขอความร่วมมือผู้จำหน่ายอาหารสำเร็จในห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าให้เพิ่มเมนูธงฟ้า 25 บาทมากกว่า 1 เมนู ส่วนร้านอาหารย่อยคงคุมราคาได้ยาก แต่จะแก้ไขผ่านร้านอาหารมิตรธงฟ้า ด้วยการเพิ่มจำนวนร้านจาก 4,601 แห่ง เป็น 6,000 แห่งให้ได้ภายในปีนี้ รวมทั้งรถเข็นธงฟ้าที่จะกระจายทุกพื้นที่

ทั้งหมดนี้กระทรวงฯเตรียมแผนที่จะแจกคูปองให้กับร้านค้าและรถเข็นที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้า เพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบราคาถูกมาผลิตอาหารและขายได้ตามราคาที่กำหนดคือ 19-25 บาท

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ยังคงประเมินไว้ที่ 3.2-3.7% โดยคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) เงินเฟ้อจะไม่เกิน 3.5% แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง คือราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ ตามสมมุติฐานตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 78-88 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปัจจุบันขึ้นไป 104.94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายที่อยู่ในช่วงขาขึ้น หรือขึ้นมาแล้ว 2.75% ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนตามสมมุติฐานคาดไว้ 28.33 บาท/เหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน 30.24 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาผลผลิตเกษตรมีความผันผวน

ส่วนปัจจัยการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้รถจักรยานยนต์ และโทรศัพท์มือถือขายดี แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ