คณะผู้ตรวจการณ์ของสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยมีความเป็นไปได้อย่างมากว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลืองวดต่อไปในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่กรีซยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว เพื่อผลักดันให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตหนี้ไปให้ได้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะผู้แทนจากอียูและไอเอ็มเอฟได้ออกแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการเข้าตรวจสอบกรีซครั้งล่าสุดซึ่งกินเวลาเกือบหนึ่งเดือน โดยระบุว่า กรีซมีความคืบหน้าอย่างมากในปีแรกของการดำเนินแผนปฏิรูประยะเวลา 3 ปีเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤต แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
รายงานของคณะผู้ตรวจการณ์ระบุว่า กรีซควรจะได้รับเงินช่วยเหลืองวดที่ 5 จำนวน 1.2 หมื่นล้านยูโร (1.738 หมื่นล้านดอลลาร์) จากคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงต้นเดือนก.ค. ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนกรีซมูลค่ารวม 1.1 แสนล้านยูโร (1.59 แสนล้านดอลลาร์) ที่ได้มีการบรรลุข้อตกลงกันในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ กรีซสามารถรอดพ้นจากการล้มละลายมาได้อย่างหวุดหวิดในเดือนพ.ค.2553 เพราะได้รับความช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟ แลกกับการที่กรีซจะต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปอย่างชัดเจนเพื่อลดยอดขาดดุลการคลังซึ่งพุ่งแตะ 15.4% ของจีดีพีในช่วงปลายปี 2552 รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆในด้านการคลังให้ได้ภายในปี 2557
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เริ่มต้นอย่างมีความหวัง การดำเนินการของกรีซเพื่อหลุดพ้นจากวิกฤตก็เริ่มไม่เป็นไปตามแผน อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของประเทศถดถอย ขาดแคลนรายได้ และความล่าช้าในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้ว่า กรีซอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ไม่ช้าก็เร็ว ส่งผลให้อียูต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติม
โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของยุโรปอยู่ในระหว่างการหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงว่าด้วยมาตรการช่วยเหลือกรีซครั้งใหม่
ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กและประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป กล่าวว่า เขาหวังว่า ยูโรกรุ๊ปจะตกลงให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กรีซ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด โดยเงื่อนไขนี้จะรวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนตามความสมัครใจ อาทิ ธนาคารและกองทุนเพื่อการลงทุน