ส.ส่งออกข้าวระบุ 10 ล้านตันไม่ยาก-แต่ก็ไม่ง่าย,ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 7, 2011 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมผู้ส่งออกข้าวมองเป้าส่งออก 10 ล้านตันในปีนี้ทำได้ไม่ยาก หากในช่วง 7 เดือนที่เหลือสามารถส่งออกอย่างน้อย 7 แสนตัน/เดือน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยกดดันหลายอย่าง ทั้งจากประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ อีกทั้งต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า เป้าส่งออกข้าว 10 ล้านตันในปีนี้ตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศทำได้ไม่ยาก เพราะหากมองแบบ Conservative ในช่วง 7 เดือนที่เหลือไทยส่งออกอย่างน้อย 7 แสนตัน/เดือน ก็จะทะลุเป้าแล้ว

สำหรับ เดือนมิ.ย.54 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้มากกว่า 6 ล้านตันอย่างแน่นอน

"ถ้า 7 เดือนที่เหลือเราส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 7 แสนตัน ซึ่งเป็นตัวที่เราทำได้ 7 แสนตัน คูณ 7 เดือน 4.9 ล้านตัน บวกกับ 5 ล้านกว่าตันใน 5 เดือนแรกก็ 10 ล้านตันแล้ว"นายชูเกียรติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.54) มีปริมาณทั้งสิ้น 5.13 ล้านตัน มูลค่า 2,894 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 3.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 50.46% และมูลค่า 2,057 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30.60%

"ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของส่งออกข้าวไทย 5 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 5.13 ล้านตัน ทุบสถิติการส่งออกของทุกๆปีที่ผ่านมา เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน เฉพาะเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งออกได้ 1.15 ล้านตัน"นายชูเกียรติ กล่าว

นายชูเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่ปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้มาก เนื่องจากราคาข้าวใกล้เคียงกับราคาข้าวของเวียดนามมาก เป็นผลมาจากตอนต้นปีข้าวเวียดนามราคาแพงขึ้น จาก 420 เหรียญสหรัฐฯ/ตันในตอนปลายปี 53 มาอยู่ที่ 460-470 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาข้าวไทยอยู่ที่ประมาณ 480 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เมื่อราคาข้าวไทยกับเวียดนามห่างกันไม่มาก ลูกค้าก็หันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น เพราะคุณภาพดีกว่า

ประกอบกับ ตอนต้นปีมีความต้องการข้าวจากอินโดนีเซียเข้ามาด้วย โดยสั่งซื้อข้าวจากไทย 6 แสนตัน จากความต้องการซื้อทั้งหมด 1 ล้านตัน ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์เปิดโควต้านำเข้าทั้งหมด 8 แสนตัน ซึ่งไทยได้มาประมาณ 5-6 แสนตัน เพราะบางช่วงราคาข้าวไทยเท่ากับราคาข้าวของเวียดนาม เป็นเพราะสต็อกข้าวของเรามีจำนวนมาก เป็นสต็อกจากรัฐบาลที่ขายให้เอกชนเกือบ 4 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวไทยไม่ได้ขยับขึ้น

"การที่ราคาข้าวไทยไม่ได้ขยับ แต่ของเวียดนามขยับ เป็นอานิสสงค์ทำให้ข้าวไทยขายดิบขายดี"นายชูเกียรติ กล่าว

ปัจจุบัน ราคาข้าวขาวของไทยอยู่ที่ 485-490 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามตอนนี้อยู่ที่ 460 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ห่างกันอยู่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน แต่ข้าวไทยยังแข่งขันได้เนื่องจากคุณภาพดีกว่า

*H2/54 ยังมีหลากปัจจัย ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกใหม่,นโยบายรัฐบาลใหม่

นายชูเกรียติ กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนที่เหลือยังมีปัจจัยกดดันการส่งออกข้าวไทยอยู่ นั่นคือสถานการณ์ของเวียดนามว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะกลับมาเร่งเครื่องส่งออกข้าวหรือไม่ อย่างไร หลังจาก 5 เดือนแรก ตัวเลขที่เป็นทางการเวียดนามส่งออกข้าวเพียง 3 ล้านตันเท่านั้น แต่ทั้งนี้ยังไม่นับรวมข้าวที่ส่งให้จีนทางชายแดนอีกจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนตัน โดยเฉพาะปีนี้จีนเผชิญปัญหาภัยแล้ง ทำให้ความต้องการซื้อข้าวมีค่อนข้างสูง

"ตัวเลขที่เปิดเผยของเวียดนาม 5 เดือนแรกอยู่ที่ 3 ล้านตัน แต่จำนวนที่ข้ามพรมแดนเวียดนามไปจีนมีจำนวนไม่น้อย ผ่านกองทัพมด ไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนตัน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้มีการเปิดเผย"นายชูเกียรติ กล่าว

นอกจากเวียดนามที่ประมาทไม่ได้แล้ว อินเดียที่งดส่งออกมา 3 ปีจนตอนนี้โกดังไม่มีที่จะเก็บแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายอย่างไร ซึ่งคนในวงการคาดว่าปีนี้อินเดียต้องกลับมาส่งออกข้าวแน่นอน และยังต้องติดตามประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ที่ปีนี้ผลผลิตค่อนข้างดีมาก และเริ่มส่งออกข้าว ที่สำคัญราคาต่ำกว่าเรา

"ประเทศเหล่านี้เหมือนตัวมาสอดแทรกอยู่เรื่อยๆ ไม่นับคู่แข่งขาประจำอย่างเวียดนาม"นายชูเกียรติ กล่าว

อีกทั้งยังต้องรอดูทิศทางและนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพราะหากมีการเปลี่ยนนโยบายก็คงจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว โดยหากรัฐบาลใหม่ชูนโยบายรับจำนำข้าวและดันราคาขึ้นไปที่ 15,000 บาท/ตัน จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นทั้งระบบ ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อแปลงเป็นราคาส่งออก เราต้องขายข้าวขาวในราคาเกิน 800 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

"สมมติว่า...ถ้ารัฐบาลใหม่เปลี่ยนเป็นนโยบายการรับจำนำข้าว ถ้าเป็นอย่างนั้น คิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเริ่มนโยบายรับจำนำในปีการเพาะปลูกหน้าก็ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวในครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่ถ้าเริ่มเลยคิดว่าน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะลูกค้าคงรับไม่ได้ที่จาก 490-500 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ขึ้นไป 800 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ภายใน 1-2 เดือน"นายชูเกียรติ กล่าว

นายชูเกียรติ กล่าวถึงนโยบายด้านสินค้าเกษตรของบรรดาพรรคการเมืองว่า ส่วนตัวเชื่อว่าทั้งผู้ส่งออกและชาวนา รู้สึกพอใจนโยบายรับประกันรายได้เกษตรกรมากกว่านโยบายรับจำนำข้าว เพราะได้รับเงินถึงมือ

"ส่วนใหญ่ยัง Happy นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เพราะเงินไปถึงจริงๆ และทั่วถึงกว่า แต่รับจำนำถูกดักหน้าดักหลัง"นายชูเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ