สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินเยนแข็งค่าขึ้นในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนถือครองสกุลเงินที่ปลอดภัย หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและภาวะซบเซาของภาคการผลิตที่เป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นนั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากการที่เบอร์นันเก้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 หรือ QE3 ในขณะที่มาตรการ QE2 จะหมดอายุลงในช่วงปลายเดือนนี้
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.80% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.4571 ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4689 ยูโร และดีดขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.6398 ปอนด์ จากระดับ 1.6446 ปอนด์
ค่าเงินเยนพุ่งขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 79.890 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 80.060 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินฟรังค์สวิสขยับขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8357 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8361 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.87% แตะที่ 1.0618 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0711 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.73% แตะที่ 0.8145 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8205 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพราะเชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจยังไร้ทิศทาง โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เบอร์นันเก้ยังได้ย้ำในที่ประชุมด้านการธนาคารที่เมืองแอตแลนต้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากภาคการผลิตซบเซาลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนมากขึ้นเมื่อเบอร์นันเก้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการ QE3 ในขณะที่มาตรการ QE2 จะหมดอายุลงในช่วงปลายเดือนนี้
เฟดได้เปิดเผยรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 สาขา หรือ Beige Book ว่า เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงนิวยอร์กและชิคาโก เนื่องจากภาคการผลิตซบเซาลง อันเป็นผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้บริโภคในหลายภูมิภาคของสหรัฐยังคงลดการใช้จ่ายเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดแรงงานและทิศทางของเศรษฐกิจภายในประเทศ
เงินเยนดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.1% เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดีดตัวขึ้นหลังจากที่ถูกกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐลงสู่ระดับ 2.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 2.8% เนื่องจากอัตราว่างงานที่ยังสูงมาก และตลาดที่อยู่อาศัยยังคงอ่อนแอ ซึ่งคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ โดยมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งนี้หรืออาจจะเป็นการประชุมในครั้งหน้า หลังจากอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนพุ่งขึ้นเหนือระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาหนี้ รวมถึงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐประจำเดือนพ.ค.