(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.อยู่ที่ 71.1 จาก 70.5 ใน เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค.54 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 71.1 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับจากเดือน เม.ย.ซึ่งดัชนีฯ อยู่ที่ 70.5 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต เนื่องจากประชาชนมีความหวังว่า หลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมแล้ว รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวได้ดีขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 71.1 และที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 98.5

"ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนนี้ถือว่าเป็นการหยุดสัญญาณการลดตัวลงจาก 3 เดือนก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งความหวังของประชาชนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากการมองภาพในเชิงการเมืองที่มีความหวังว่านโยบายของพรรคการเมืองจะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฉุดความเชื่อมั่นในอนาคต แต่ต้องติดตามว่าจะมีความยั่งยืนขนาดไหน" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.นี้ ได้แก่ การที่รัฐบาลยุบสภา และประกาสให้มีการเลือกตั้งส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น, ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลง, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) คงคาดการณ์ GDP ปี 54 ไว้ที่ 3.5-4.5%, ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับสูง, เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง, ผู้บริโภคกังวลสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต, ความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศและภัยพิบัติ และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจากความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมาดูแลแล้วก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง

ส่วนสถานการณ์ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง การใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมองว่าปัญหาค่าครองชีพยังเป็นปัจจัยคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น หากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลาย และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.ยังหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้ง และแนวโนยบายต่างๆ รวมทั้งทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต้อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติช่วงครึ่งปีหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ