(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ คาดเงินเลือกตั้งดัน CPI พุ่ง 5%,มีสิทธิขึ้นดบ.นโยบายอีก 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) มีโอกาสพุ่งแตะ 5% ในช่วงปลายไตรมาส 3/54 หรือต้นไตรมาส 4/54 จากเมื่อเดือนพ.ค.ที่ CPI ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.34% จากเม.ย. 54 ซึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้งที่ทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงความเชื่อมั่นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองตางๆ ซึ่งจะทำให้อำนาจการจับจ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น จึงมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หากเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) หลุดกรอบด้านบนที่ 3% จากเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่อยู่ในช่วง 0.5-3.0%

"หากนโยบายของพรรคต่างๆ ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นเกิน 3% สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจะไม่หยุดอยู่แค่ 0.25% หรือ 0.50% แต่อาจไปถึง 0.75% ได้" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าว

ด้านนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ให้ความเห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า การที่ต่างประเทศแสดงความเป็นห่วงนโยบายเศรษฐกิจแต่ละพรรคการเมืองของไทย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่มีการผูกพันงบประมาณแต่ละปีจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีวิธีการชัดเจนในการหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นและทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงนั้น ในทางกลับกันตนมองว่า นโยบายประชานิยมดังกล่าวของพรรคการเมืองเปรียบเหมือนเป็นการโฆษณาเท่านั้น และยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ดี ต้องรอดูหลังจากการเลือกตั้งไปแล้วว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงรอฟังการประกาศนโยบายรัฐบาลให้ชัดเจนก่อนว่าจะสามารถทำได้จริงเหมือนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

"นโยบายที่หาเสียงกัน เรามองว่าเป็นแค่การโฆษณาเท่านั้น ขณะที่ต่างชาติเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเขามองว่าถ้าเอานโยบายออกมา implement แล้วเศรษฐกิจจะง่อนแง่น...ที่เขาขายหุ้นไทยตอนนี้คือเขาพักไว้ก่อน เพราะความเสี่ยงมันเยอะ และเอาไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน" นายฉัตรชัย กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ เชื่อว่า การที่เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้จะเป็นสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าจะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจอย่างไรหลังจากที่จะจบมาตรการ QE2 ภายในเดือนมิ.ย.นี้ และยังไม่ชัดเจนว่าจะทำ QE3 หรือไม่ รวมถึงปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ในจำนวนที่สูง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่สดใส นักลงทุนเทขายหุ้นและหันไปลงทุนในตลาดตราสารหรือลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นแทน เนื่องจากได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า

ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังมีความแข็งแกร่ง โดยทั้งปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(GDP) จะอยู่ในระดับ 4% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 5% ขณะที่สถานการณ์เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่ามากนัก

"ภายใต้พื้นฐานเศรษฐกิจแบบนี้ รวมทั้งปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ที่การเมืองนิ่ง ก็เชื่อว่าเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไปช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยไหลไปอยู่ในตลาดพันธบัตร...ตลาดหุ้นไทยที่ swing เพราะความไม่ชัดเจนของการเมืองในช่วงนี้ นักลงทุนคงพักและเอาเงินออกไปบ้าง" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ