ธปท.เผยเงินทุนตลาดหุ้นไหลออก แต่ไหลเข้าตลาดตราสาร เชื่อทั้งปีไหลเข้าสุทธิ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง"นโยบายการเงินของไทยกับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียน"โดยยอมรับว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก 8-9 วัน เช่นเดียวกับมาเลเซียมาก เนื่องจากต่างชาติกังวลความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัว ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยังไม่มีผลสำเร็จ แต่ในช่วงดังกล่าวก็มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยมากเช่นกัน

"2 อาทิตย์ก่อนเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นเร็วและมาก จากปัญหาความกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ขณะที่ในไทยก็มีข่าวเรื่องการเมือง ทำให้ broker house ต่าง ๆ เขียนวิจารณ์การเมืองไทยว่าหลังเลือกตั้งปัญหาไม่น่าจะจบ เลยไม่แนะนำให้ลงทุนต่อและถ้ามีโอกาสก็ให้ขายหุ้นออกไป แต่เชื่อว่าทั้งปีนี้สุทธิเงินยังไหลเข้าอยู่ แล้วค่อนข้างมากด้วย"นายประสาร กล่าว

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/54 มีเงินไหลเข้า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และไตรมาส 2/54 มีเงินไหลเข้ามาแล้วกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 53 เงินไหลเข้าสุทธิ 25.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเฉลี่ยปีละ 4.5 พันล้านเหรียญในช่วง 4 ปีก่อน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การลงทุนในไทยถือเป็นประเทศชายขอบ หากมีการขยับเงินทุนจากต่างประเทศออกไป 1-2% ก็จะทำให้เงินในประเทศก็แห้งเหือด อย่างไรก็ตาม ตลอด 5 เดือนแรกของปีนี้ แรงกดดันเงินทุนไหลเข้าไทยผันผวนน้อยกว่าไตรมาส 3-4/53 แต่ ธปท.ก็ยังต้องระมัดระวังไม่มีความผันผวนมากเกินไป และขนาดของเงินที่เข้ามาไม่ให้ใหญ่เกินไป เนื่องจากเงินที่ไหลเข้ามาแต่ละครั้งเป็นก้อนใหญ่กว่าในอดีตมาก

ในช่วงไตรมาส 4/54 แผนโรดแมปเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่เน้นด้านเงินทุนขาออกจะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานโยบายการเงินก็ช่วยลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาท รวมถึงความไม่สมดุลของเศรษฐกิจไทยได้ ทำให้ปีนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่ง ต่างจากปี 53 ที่ ธปท.ต้องปล่อยให้บาทแข็งค่า ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เงินก็จะไหลเข้ามาอีก ซึ่งถ้าเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนแบงก์ชาติก็เข้าไปจัดการได้

นายประสาร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.อาจจะใช้มาตรการนอกเหนือจากการใช้นนโยบายการเงิน เช่น มาตรการ LTV โดยตั้งแต่ปี 53 ต่อเนื่องปี 54 ธปท.ใช้ 5 นโยบายผสมผสานเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย คือ ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น, ธปท.ต้องมีศักยภาพเข้าแทรกแซงตลาดเพียงพอ, เปิดให้เงินทุนในประเทศไหลออก แต่ไม่ได้ปล่อยให้ออกทีเดียวต้องให้ความรู้นักลงทุนด้วย,

ใช้มาตรการผ่านกฎระเบียบต่าง ๆ เช่นการดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ จากในอดีตที่หวังผลควบคุมด้านความเสี่ยง และฐานะการเงินของธนาคาร แต่ขณะนี้หากมีการปรับนโยบายได้ดีก็สามารถดูแลเศรษฐกิจได้ เหมือนกับกรณีของจีนที่สั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสำรองดูเหมือนดูแลความเสี่ยงของธนาคาร แต่สามารถช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ด้วย

พร้อมกันนั้น ธปท.และทุกภาคส่วนช่วยให้ทำให้ตลาดเงินมีความลึก เพราะหากเงินไหลออกไปบ้างก็ยังมีเงินเหลือในประเทศ และทำให้ตลาดมีความกว้าง โดยการทำให้ผู้เล่นในตลาดมีหลากหลาย

นายประสาร กล่าวว่า แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อยังสูง แต่ที่สำคัญมาจากปัญหาราคาน้ำมัน ล่าสุด เดือน เม.ย.เกิดจากการส่งผ่านราคาอาหารสดไปยังอาหารสำเร็จรูป ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกระยะหนึ่ง โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 3% กว่า ๆ และคาดว่าจะขึ้นไปเกิน 3% ช่วงไตรมาส 3-ไตรมาส 4/54 บนสมมติฐานที่รัฐบาลไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ

ประกอบกับ ถ้าไม่มีเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีก ธปท.ก็จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินอย่างนี้ได้ เชื่อว่าปลายไตรมาส 3/54 ถึงไตรมาส 1/55 อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงได้ ขณะที่ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสแตะ 4-5% ในปีนี้

ธปท.จะไม่ทำให้คนรู้สึกว่าจะแก้ไขปัญหาการเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ หรือทำให้รู้สึกว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวมากกว่านี้ ซึ่งก็คือการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธปท.ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่าเงินเฟ้อจะไม่เร่งไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธปท.

"ถ้าสามารถลดคาดการณ์เงินเฟ้อได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาต่อเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวในระดับนี้ ก็จะสามารถรักษาความสามารถด้านการแข่งขันได้"นายประสาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ