ธปท.มองค่าเงินบาท H2/54 ยังผันผวนมากตามสกุลเงินหลัก-เงินทุนเคลื่อนย้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 10, 2011 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังปี 54 จะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนอย่างมากตามค่าเงินสกุลหลักของโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งไม่ต่างจากช่วงครึ่งแรกของปี ขณะเดียวกันไทยยังมีปัจจัยเสริมจากการเกินดุลการค้า

อนึ่ง ในช่วง 4 เดือนแรกของปีไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 7,200ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เหลือของปีน่าจะดีกว่าปี 53 ภาคส่งออกน่าจะขยายตัวอยู่ในระดับสูง "กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงเร็ว มาจากแรงกดดัน 3 ปัจจัยเดิมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐชะลอตัวทำให้นักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าจะฟื้นตัวได้จริง รวมถึงยุโรปเผชิญปัญหาการลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร และปัจจัยในประเทศที่ยังคงต้องติดตามการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าจะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยหรือไม่" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวอ่อนค่า 0.8% หรือจาก 30.15 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐเป็น 30.39 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ เป็นผลจากกอุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีทำให้ความต้องการซื้อดอลลาร์สหรัฐของผู้นำเข้าและนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยจากเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย เพื่อปิดความเสี่ยงการลงทุนจากความกังวลครั้งใหม่ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้ในยุโรป และนักลงทุนปรับฐานการลงทุนในไทย เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองของไทยด้วย

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทาง เป็นไปตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงผลักดันจากการไหลเข้า-ออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเดือนพ.ค.นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในสินทรัพย์ไทยทั้งตราสารหนี้และหุ้นรวมทั้งสิ้น 73,000 บาท แยกเป็นการตราสารหนี้ 57,000 ล้านบาท โดยยอมรับว่ามีบางส่วนขายออก บางส่วนครบกำหนดไถ่ถอน เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนตลาดหุ้นพบว่ามีแรงเทขาย 16,000 ล้านบาท โดยรวมทำให้สัดส่วนการถือตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติลดลงจาก 8% ณ วันที่ 26 พ.ค.ปรับลดลงมา 1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ