นายกฯ แจงเวที WEF ยันศก.ไทยมั่นคง-การเมืองเข้มแข็ง พร้อมประสานประชาคมอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2011 09:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ 20 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อวานนี้ว่า ได้หารือกับ ศ.Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร World Economic Forum ซึ่งแสดงความสนใจศักยภาพของไทยที่สามารถนำไปสู่ประเด็นของการประชุมในปีต่อไปที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพได้ คือ การเชื่อมโยงภูมิภาค โดยไทยและอาเซียนได้มีการดำเนินการด้านกายภาพและความร่วมมือต่างๆ เพื่อเดินหน้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ศักยภาพในการผลิตอาหารของไทย ในฐานะครัวโลก ที่จะจัดให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้ร่วมหารือกับนาย Paul Pollman ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนาย Harish Manwani ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเซีย แอฟริกา ยุโรปกลาง และตะวันออก ที่ได้แสดงความพอใจต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพของไทย พร้อมชื่นชมการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาวของไทยในฐานะครัวโลกและประตูอาเซียนสู่ตลาดโลก ความสามารถในอุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตสูงเป็นอันดันสองของอาเซียนในปีที่ผ่านมา ในขณะที่สามเดือนแรกของปีนี้ที่การส่งออกเติบโตกว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ ผู้บริหาร ยูนิลีเวอร์ ที่ได้ขอเข้าเยี่ยมคารวะและรายงานถึงโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยในภูมิภาค (Regional R &D) ในประเทศไทยแถวมีนบุรี

พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้เป็นประธานงานเลี้ยงรับรอง Thailand Lunch เพื่อยืนยันศักยภาพเศรษฐกิจและความเป็นหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนชั้นนำเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ 21 ณ กรุงเทพ ฯ ในปี 2555 ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีทั้งจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ในหลากหลายสาขา อาทิ อาหาร พลังงาน อุตสาหกรรม

สำหรับประเด็นการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ไทยมีรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง หลังเหตุการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถจัดการเลือกตั้งได้สะท้อนให้เห็น ศักยภาพของประเทศและระบบความเข้มแข็งการเมืองไทย

และก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีปิดการประชุม ในหัวข้อการสร้างความมั่นคั่งในกระแสโลกใหม่ โดยชี้ให้เห็นศักยภาพของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีหน้าแล้ว ยังให้ความสำคัญ กับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เชื่อมโยง ปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ