In Focusจับชีพจรเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปี จากห้องไอซียู...สู่ห้องพักฟื้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 15, 2011 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพของเศรษฐกิจโลกในยามนี้ เรียกได้ว่า ส่งสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะเปรียบก็เหมือนคนที่เคยป่วยหนัก แล้วก็ป่วยออดๆแอดๆมาโดยตลอด ตั้งแต่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐที่ยังลูกผีลูกคนต้องลุ้นกันยาว หากข้ามฝั่งมาที่กรีซซึ่งรักษาด้วยยาแรงกันไปแล้ว อาการก็ยังสาหัสอยู่ ไม่มีวี่แววว่าจะทุเลาลง มาจนถึงพี่ใหญ่ในเอเชียอย่างจีนที่แม้จะชะลอตัวลง แต่สุขภาพโดยรวมก็ยังดีอยู่ อาจจะเพราะได้ยาดีจากรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ

แต่ซามูไรอย่างญี่ปุ่นนั้น คงต้องให้กำลังใจกันต่อไป หลังจากที่ต้องเผชิญกับศึกหนักทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ ตลอดจนการเมืองในประเทศที่งัดข้อกันไปงัดข้อกันมาระหว่างนายกฯกับฝ่ายค้าน เหล่านี้ล้วนเป็นการส่งสัญญาณถึงชีพจรที่อ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก คล้ายๆกับผู้ป่วยที่ได้ย้ายจากห้องไอซียูมาอยู่ห้องพักฟื้นอย่างไรอย่างนั้น

สหรัฐรับศึกหนักทั้งหนี้ - อัตราว่างงานสูง

อาการลูกผีลูกคนของพี่ใหญ่อย่างสหรัฐนั้น จะเห็นได้จากการที่ เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นของรัฐบาลว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้

"การที่สหรัฐไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อสถานะการคลังของประเทศ และการที่ตัวเลขหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงมาก จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของของเจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติด้วย" เบอร์นันเก้กล่าวปาฐกถาในการประชุมประจำปี 2554 ของคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า การที่สหรัฐไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้จะทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องผิดนัดการจ่ายเงินตามกำหนดในด้านต่างๆ ซึ่งจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานะด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐด้วย

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า ตัวเลขหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐจะพุ่งขึ้นชนเพดานสูงสุดในวันที่ 2 ส.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐปรับเพิ่มเพดานหนี้ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ระดับ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรครีพับลิกันเป็นผู้ครองเสียงข้างมากนั้น ได้ลงมติไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า มูดีส์อาจจะทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือหรืออาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ หากเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐไม่มีความคืบหน้า พร้อมกับระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องเพดานหนี้นั้น อยู่ในระดับที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ในระยะสั้น นอกจากหนี้สินที่เข้าขั้นผู้ป่วยหนักแล้ว ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐเพิ่มขึ้น 42.7% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดการขาดดุลเดือนเม.ย.ที่ระดับ 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (เริ่มคำนวณตั้งแต่เดือนต.ค. 2553) ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐมีอยู่ทั้งสิ้น 9.274 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ตัวเลขอัตราว่างงานเดือนพ.ค.ก็ไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 9.1% ส่วนตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 54,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าจำนวน 200,000 ตำแหน่งที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยให้อัตราว่างงานลดลงในระยะยาว

แม้แต่เจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจของคณะทำงานโอบามายังยอมรับว่า อัตราว่างงานอยู่ในระดับที่ "สูงจนไม่สามารถยอมรับได้" โดย ออสแตน กูลส์บี ประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจสหรัฐ มองว่า แม้ภาคเอกชนเพิ่มการจ้างงานกว่า 2.1 ล้านตำแหน่งในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา แต่ตัวเลขจ้างงานก็ควรจะขยายตัวรวดเร็วกว่านี้ เพื่อชดเชยตัวเลขจ้างงานที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว

ขณะที่เบอร์นันเก้ ก็มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากภาคการผลิตชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐยังได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน

กรีซสาหัสอีกครั้งหลังเอสแอนด์พีลดอันดับความน่าชื่อถือ

แม้ว่า กรีซจะหายใจหายคอได้บ้างจากยาหอมฝั่งเยอรมนีที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบสนับสนุนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องการมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แต่แล้วกรีซก็ต้องคอตกอีกรอบ เมื่อ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซลง 3 ขั้น สู่ระดับ CCC จากระดับ B ซึ่งสูงกว่าระดับ "ผิดนัดชำระหนี้" เพียงแค่ 4 ขั้นเท่านั้น

นอกจากนี้ เอสแอนด์พียังคงแนวโน้มความเชื่อถือระยะยาวของกรีซเป็น "เชิงลบ" ซึ่งหมายความว่ากรีซมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้านี้ เนื่องกรีซมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

"ยังไม่แน่นอนว่ากรีซจะได้รับเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้กรีซต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ" เอสแอนด์พีระบุ

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากเอสแอนด์พีในครั้งนี้ มีขึ้นไม่นานหลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซลงสู่ระดับ B+ ซึ่งเป็นระดับ "ขยะ" จากเดิมที่ระดับ BB+ เนื่องจากความกังวลที่ว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่กรีซจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้กรีซต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

ผู้ป่วยอย่างกรีซคงจะต้องพบหมออีกยาว ล่าสุด รัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องแผนการช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่สำหรับกรีซในการประชุมฉุกเฉินที่จัดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ได้ โดยที่ประชุมยังถกเถียงกันเรื่องขอบเขตการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติม

นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็นประธานยูโรกรุ๊ปกล่าวว่า เขาขอให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อประเมินทางเลือกต่างๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสามัญของรัฐมนตรียูโรโซนในวันจันทร์หน้า

อย่างไรก็ตาม ความเห็นเรื่องการช่วยเหลือกรีซครั้งใหม่ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กว่าที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนจะสามารถลงมติข้อตกลงเรื่องการช่วยเหลือกรีซรอบใหม่ในการประชุมครั้งต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่ลำบากยากเข็ญเสียเหลือเกิน

พี่ใหญ่แห่งเอเชียกับมาตรการควบคุมเงินเฟ้อและอสังหาริมทรัพย์

พี่ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนนั้น เป็นอีกประเทศที่หนีไม่พ้นวัฏจักรของการเจ็บไข้ได้ป่วย ส่งผลให้รัฐบาลต้องนำยาขนานต่างๆมาใช้ เพื่อบรรเทาอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งแรง หากเปรียบเงินเฟ้อเป็นความดันแล้ว ก็เรียกได้ว่า ความดันสูง ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็คงจะเผชิญกับภาวะฟองสบู่แน่ๆ หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการควบคุม

ขนาดทางการจีนใช้ยาดีมาโดยตลอด แต่เงินเฟ้อเดือนพ.ค.ก็ยังไม่วายพุ่งแรง แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่พลิกโผ และสอดคล้องกับการการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยสำนักงานสถิติจีนได้เปิดเผยดัชนี CPI เดือนพ.ค.ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 34 เดือนของจีน ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนรีบออกมาประกาศขึ้นเพดานกันสำรองธนาคารพาณิชย์อีก 0.25% ในวันเดียวกันทันที แต่เพดานกันสำรองดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ยอดปล่อยสินเชื่อตลอดจนยอดเกินดุลการค้าของพี่ใหญ่แห่งเอเชียที่หดตัวลงในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นสัญญาณล่าสุดที่ตอกย้ำให้เห็นว่า พี่ใหญ่แห่งเอเชียคงจะต้องหาทางดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

โดยยอดการปล่อยสินเชื่อครั้งใหม่ของธนาคารพาณิชย์จีนในเดือนพ.ค.ตกลงสู่ระดับ 5.516 แสนล้านหยวน (8.486 หมื่นล้านดอลลาร์) จากเดือนเม.ย.ที่ระดับ 7.396 แสนล้านหยวน ซึ่งยอดปล่อยสินเชื่อดังกล่าวยังขยายตัวน้อยกว่าเดือนพ.ค.ของปีที่แล้วอยู่ 1.005 แสนล้านหยวน

ขณะที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งครอบคลุมถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทุกประเภท ขยายตัวในระดับที่ชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 เพิ่มขึ้น 15.1% ต่อปีแตะที่ 76.34 ล้านล้านหยวน อัตราการขยายตัวดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าเดือนเมษายนอยู่ 0.2% และต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วอยู่ 5.9%

ส่วนปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M1 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณเงินหมุนเวียน กระแสเงินสดหมุนเวียนรวมกับเงินฝากของกลุ่มนิติบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.7% จากปีก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ 26.93 ล้านล้านหยวน ซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ประมาณ 17.2%

นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะซอฟท์ แลนดิ้ง หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะฮาร์ด แลนดิ้งก็มีอยู่มากเช่นกัน

โชคยังดีอยู่ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนพ.ค.นั้นขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้น และหลายประเทศคลายความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจแดนมังกรไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเคลื่อนไหวในจีนยังต้องจับตาดูกันต่อไป

ญี่ปุ่นรอวันกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

ญี่ปุ่นนั้น หากไม่เผชิญกับภัยธรรมชาติก็คงจะฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืดและรุกคืบโดยไม่ทิ้งห่างประเทศคู่แข่งได้ แต่เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างไม่ปราณีปราศรัย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญกับผลกระทบในทุกๆด้าน ตั้งแต่การส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ถือเป็นเสาหลักของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกไปจนถึงดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกนั้น หดตัวลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ล่าสุด นายคาโอรุ โยซาโน่ รัฐมนตรีกระทรวงนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลอาจจะปรับลดการประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2554 ลงเหลือระดับ 0% จากระดับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.5% เนื่องจากผลกระทบด้านลบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

ขณะที่สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลงถึง 60.1% จากปีก่อน เหลือ 292,001 คันในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นสถิติลดลงมากที่สุด หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนและการประกอบรถในญี่ปุ่นหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง

นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดทางการเมือง หลังจากที่นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถูกพรรคฝ่ายค้าน ตลอดจนสมาชิกของพรรครัฐบาลเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยพรรคฝ่ายค้านนั้นรุกหนักถึงขั้นยื่นญัตติไม่ไว้วางใจไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่นายคังก็รอดพ้นจากญัตติไม่ไว้วางใจมาได้ เนื่องจากการเจรจาต่อรองกันภายในพรรคดีพีเจ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่มีนายคังเป็นหัวหน้าพรรค

การเจรจาต่อรองครั้งนั้นได้มีการกำหนดเงื่อนไขว่า บรรดาส.ส.ภายในพรรคดีพีเจจะลงคะแนนเสียงคัดค้านญัตติไม่ไว้วางใจ เพื่อให้นายคังทำหน้าที่นายกฯต่อไป แต่เขาจะต้องลาออกหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ได้มีการพูดคุยกันไว้ นายคังไม่ได้ระบุถึงช่วงเวลาที่จะลาออกอย่างชัดเจน เพียงแต่บอกว่า จะลาออกเมื่อภารกิจในการฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัตินั้นมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง การที่ลูกหม้อภายในพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองถล่มผู้นำประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ คงจะทำให้บรรยากาศการฟื้นฟูประเทศ และการผ่านกฎหมายต่างๆล่าช้า ขณะที่ประเทศต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน

อาการป่วยต่างๆนานาที่ประดังประเดกันเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลกนี้ พร้อมที่จะซัดกระหน่ำเศรษฐกิจโลกให้เป็นผู้ป่วยอยู่ในห้องพักฟื้นต่อไป หากไม่มีการลงมือแก้ไขและป้องกันไม่ให้อาการป่วยย่ำแย่ลงไปยิ่งกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ