นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) เปิดเผยว่า นโยบายด้านการสื่อสารและการทำความเข้าใจกับผู้ฝากเงินทั่วประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบการเงินไทยนั้น นับเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบัน โดยตลอดทั้งปีนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก, กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ร่วมกันออกไปโรดโชว์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น เชียงราย, เชียงใหม่, พิษณุโลก, อุดรธานี และในเร็วๆ นี้ที่ชลบุรี, ภูเก็ต, นครราชสีมา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
ทั้งนี้ จะเป็นการฉายภาพรวมในการสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินไทยของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งจะประกอบด้วย กระทรวงการคลังที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายภาพรวมของเศรษฐกิจและนโยบายสถาบันการเงิน และเป็นผู้ออกใบอนุญาตสถาบันการเงินต่างๆ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาทในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีบทบาทในการตั้งรับทำหน้าที่จ่ายคืนเงินฝากและชำระบัญชีในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ
"การตื่นตัวของประชาชนผู้ฝากเงินนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการหารายละเอียด เช่น วันที่จะเริ่มลดวงเงินคุ้มครอง เงินฝากหรือตราสารใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง รายชื่อสถาบันการเงินใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง เพราะที่ผ่านมาประชาชนอาจฟังผ่านๆ เพราะการคุ้มครองยังเป็นการคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่"นายสิงหะ กล่าว
อย่างไรก็ดี วันนี้สถาบันการเงินต้องปรับระบบภายในรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากสูงเกิน 50 ล้านบาทอาจต้องปรับตัวเช่นกัน โดยขอย้ำว่าวงเงินคุ้มครองจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่ง ณ ขณะนี้คุ้มครองเต็มจำนวน และระหว่าง 11 ส.ค.54 - 10 ส.ค.55 คุ้มครองวงเงิน 50 ล้านบาท และตั้งแต่ 11 ส.ค.55 เป็นต้นไป คุ้มครองวงเงิน 1 ล้านบาท ต่อหนึ่งรายผู้ฝากต่อหนึ่งสถาบันการเงิน กล่าวคือเมื่อสำนักงานแห่งหนึ่งล้ม สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะรวมเงินฝากทุกบัญชีของผู้ฝากรายหนึ่งๆในธนาคารนั้นก่อนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น แล้วจ่ายคืนให้ตามจริงแต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดตามช่วงที่สถาบันการเงินปิดกิจการดังที่กล่าวข้างต้น
นายสิงหะ กล่าวว่า สำหรับการปรับตัวนั้น อยากให้ผู้ฝากเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุม ดูแลตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง ไม่ใช่ว่าใครมีเงินแล้วอยากเข้ามาเปิดแบงก์ก็เปิดได้ ต้องมีการขออนุญาตซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน และเมื่อเข้ามาทำธุรกิจแล้วก็จะถูกกำกับดูแลใกล้ชิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเกณฑ์กำกับดูแลทุกวันนี้เป็นมาตรฐาน ดังนั้นโอกาสที่ธนาคารจะล้มเป็นไปได้ยากมาก
อย่างไรก็ดี หากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นจริงๆแล้วผู้ฝากก็มั่นใจได้ว่า ยังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่พร้อมจ่ายเงินในวงเงินที่กำหนด และในเวลาที่กำหนด ผู้ฝากจึงเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของไทยได้ สามารถใช้ชีวิตโดยรวมได้ตามปกติดังที่เป็นมา แต่อย่างหนึ่งที่ผู้ฝากจะต้องเปลี่ยนตัวเอง คือ การติดตามข่าวสาร พิจารณาข้อมูลต่างๆ และไม่ฝากเงินโดยดูอัตราดอกเบี้ยสูงๆ อย่างเดียว ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย