นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง "นโยบายข้าว ว่าที่รัฐบาลใหม่ ประกัน VS จำนำ" ใครได้-ใครเสียว่า โครงการประกันรายได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล ใช้เม็ดเงินไป 58,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 40% ต่างจากระบบรับจำนำที่ใช้วงเงินมากถึงแสนล้านบาท เพราะการประกันรายได้เป็นการคำนวณจากต้นทุนสินค้าเกษตร รวมค่าขนส่ง และกำไรขั้นต่ำ จึงถือว่าโครงการนี้เกษตรกรจะไม่ขาดทุน
"ยอมรับว่าระบบประกันรายได้ยังมีช่วงโหว่ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลจะต้องมีการแก้ไข แต่โดยภาพรวมช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมมากสุด และยังลดการทุจริตจากการจำนำสินค้าเกษตร" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ของนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งระบุว่า นโยบายรับจำนำข้าวสอบตก เนื่องจากผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคส่งออก 4-5 ราย โรงสี 600 โรง จากทั้งหมดที่มีอยู่ 2,000 โรง ขณะที่เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 6 แสนราย
ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผล ประโยชน์จะเข้าถึงเกษตรกรทุกคน โดยอ้างอิงว่า 2 ปีที่ปชป. เป็นรัฐบาลสามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรไปแล้ว 4 ล้านคน และเงินถึงมือเกษตรกรหมดแล้ว โดยที่รัฐบาลไม่ได้แตะต้องข้าวแม้แต่เมล็ดเดียว
"สิ่งทีเราทำ 2 ปี ชาวนาไม่เคยขาดทุน มีกำไรตลอด ซึ่งถ้าเกษตรกรไม่ขาดทุนติดต่อกัน 4 ปีนับจากนี้ เกษตรกรจะปลดหนี้ได้หมด" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ โครงการจำนำข้าวยังทำลายระบบการค้าข้าวของไทย ที่มีความสามารถในการแข่งขันและการเป็นข้าวคุณภาพในตลาดโลก เพราะนโยบายรับจำนำข้าวทำให้ไทยเสียตำแหน่งผู้นำตลาดข้าวในตลาดโลกแก่ เวียดนาม เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องเข้าไปซื้อข้าวทั้งหมดจากเกษตรกร จ้างโรงสีเก็บและสีข้าว แล้วจึงนำไปขายให้กับพ่อค้าในราคาถูก ยิ่งเป็นการบิดเบือนตลาดมากขึ้น ทำให้ตลาดข้าวของไทยกลายเป็นตลาดข้าวคุณภาพต่ำ หรือ ไม่ก็ใกล้เคียงกับคุณภาพข้าวของเวียดนาม เมื่อผู้ซื้อเห็นคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่ราคาเราแพงกว่าก็ไปซื้อข้าวจากเวียดนาม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไทยเสียตลาดข้าวให้กับเวียดยนาม
อีกประการที่มองว่านโยบายรับจำนำสอบตก คือ มีการทุจริตในทุกระดับ ตั้งแต่เกษตรกร โรงสี พ่อค้าส่ง ข้าราชการและนักการเมือง ที่ได้ส่วนแบ่งจากการแทรกแซงของรัฐบาล ขณะที่นโยบายประกันรายได้เกษตรกร แม้จะมีการคอร์รัปชั่นแต่ก็เป็นในลักษณะชาวนาขึ้นทะเบียนเกินความเป็นจริง
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมช.พาณิชย์ ในนามตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการของโครงการประกันรายได้และโครงการรับจำนำจะไม่ต่างกัน เพราะเน้นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต่างตรงวิธีการที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการรับจำนำจะทำให้เกษตรกร และประเทศได้ประโยชน์ เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าการเมืองที่รัฐบาลควรแทรกแซงและควบคุมตลาดให้เกษตรกร เพราะเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะรับจำนำข้าวทุกเม็ดในมือเกษตรกรด้วยราคาตันละ 15,000 บาท หรือกำหนดราคาขั้นต่ำให้เกษตรกร ขณะที่การประกันรายได้เป็นการกำหนดราคาขั้นสูง นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังให้เครดิต 70% แก่เกษตรกรเพื่อนำไปซื้อปัจจัยทางการเกษตรมาผลิตสินค้า ดังนั้นมองว่าระบบจำนำจะช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่า
"ส่วนการทุจริตในโครงการแทรกแซงมองว่าทั้ง 2 ระบบมีปัญหาใกล้เคียงกัน แต่วิธีการที่จะให้ประโยชน์ตกไปถึงเกษตรกรมากสุดอาจต่างกันเท่านั้น อีกทั้งการอุดหนุนเกษตรกรด้วยการจ่ายเงินโดยตรงอาจผิดระเบียบองค์การการค้าโลก(WTO) ที่ให้การอุดหนุนได้ไม่เกินปีละ 19,000 ล้านบาท" นายวัฒนา กล่าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า ขอให้อย่าบิดเบือนราคา เพราะการส่งออกจะมีปัญหามากกว่าปัจจุบันที่ทุกวันนี้ ข้าวไทยทำตลาดค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม นอกจากนี้ประเทศคู่แข่งอื่นๆ อย่างกัมพูชา พม่า เริ่มหันมาพัฒนาการผลิตข้าวมากขึ้น หากข้าวไทยมีการบิดเบือนราคาจะยิ่งทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนไปบริโภคข้าวจากที่อื่น ซึ่งมีคุณภาพแตกต่างจากข้าวไทยเล็กน้อย แต่ราคาถูกกว่า
"ปัจจุบันนี้ เราเสียตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิในตลาดฮ่องกง ซึ่งเคยซื้อจากเรา 100% มาร์เก็ตแชร์เราเคยอยู่ที่ 90% ตอนนี้ลดลงเหลือ 55% เพราะข้าวเวียดนามตีตลาด เพราะราคาขายถูกกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้มีแนวโน้มที่เราจะเสียตลาดส่งออกสำคัญอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ตอนนี้เริ่มหันไปซื้อจากเวียดนามบ้างแล้ว" นายชูเกียรติ กล่าว
อนึ่ง 3 ปีที่ก่อน ฮ่องกงนำเข้าข้าวหอมมะลิจากเวียดนาม ปีละ 3 พันตัน และในปี 53 มีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากเวียดนามเพิ่มเป็น 6 หมื่นตัน และ 6 เดือนแรกของปีนี้นำเข้าจากเวียดนามแล้ว 4 หมื่นตัน จากทั้งปีที่มีการนำเข้าในปริมาณ 3 แสนตัน โดย 80% เป็นข้าวหอมมะลิ