รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ราคาอาหารจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงผันผวนในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ โดย 2 องค์กรได้เรียกร้องให้มีการใช้นโยบายด้านการเกษตรแบบร่วมมือกัน และเสริมสร้างการลงทุนให้มีความแข็งแกร่ง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงาน OECD-FAO Agricultural Outlook ฉบับปี 2554-2563 ซึ่งนำเสนอโดยนายแองเจล เกอเรีย เลขาธิการ OECD และนายฌ้าก ดีอุฟ ผู้อำนวยการ FAO ระบุว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ ราคาธัญพืชอาจจะปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 20% ส่วนราคาเนื้อสัตว์อาจจะสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเปรียบกับสถิติปี 2544 - 2553
ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปี 2550 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากความแห้งแล้งในประเทศที่ปลูกธัญพืช รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่กลางปี 2553 เป็นต้นมา ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตอาหาร