สศค.แนะรัฐบาลใหม่เร่งจัดทำกระบวนการงบฯ ปี 55 หลังได้รัฐบาล 1 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2011 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังการการเลือกตั้งเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะวางนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงการรถไฟฟ้า ระบบชลประทาน เห็นได้จากนโยบายหาเสียของทุกพรรคการเมืองต่างมุ่งนโยบายการลงทุน

ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงทุนของรัฐบาลจะยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป แต่ที่เป็นห่วงคือแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใด ซึ่งแนวทางการลงทุนโดยให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ภายใต้การยึดนโยบายการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายในปี 58

"เงินคงคลังเราก็มีตอนนี้มีกว่า 1 แสนล้านบาท แต่คงนำไปใช้ตามนโยบายหาเสียงไม่ได้ทั้งหมด เพราะเงินคงคลังถ้านำไปใช้ก็ต้องมีการตั้งงบประมาณมาชดเชยให้"นายนริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายนริศ เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการหลังการจัดตั้งรัฐบาล คือการจัดทำงบประมาณประจำปี 55 ส่วนวงเงินงบประมาณจะมากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่างบประมาณประจำปี 55 คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.54 ซึ่งเริ่มปีงบประมาณใหม่ อาจทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนต้องล่าช้าออกไป

"คิดว่าอย่างน้อย 1 เดือนหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องเริ่มทำกระบวนการงบประมาณปี 55 เพราะหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินภาครัฐให้เกิดขึ้น ดูกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งงบรายจ่ายประจำยังเบิกจ่ายได้ แต่งบลงทุนอาจต้องล่าช้า"นายนริศ กล่าว

ผอ.สศค.ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 54 ปรับตัวอย่างไรให้ทันสถานการณ์ ในงานสัมมนาวิชาการของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน "Decoding Cost : ถอดรหัสสกัดต้นทุนแพง" ว่า สศค.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 4-5% แต่จะมีการทบทวนอีกครั้งในปลายเดือน มิ.ย.นี้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามเกี่ยวกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิคส์

ปัจจัยที่ท้ายทายภายในประเทศ คืออัตราเงินเฟ้อ จากการปรับขึ้นค่าแรงงานและขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ปัจจัยการเมืองที่รัฐบาลใหม่จะยังคงดำเนินนโยบายเดิมหรือไม่ ปัญหาน้ำท่วม สภาพอากาศแปรปรวน และการขาดแคลนแรงงานฝีมือ

ส่วนปัจจัยท้าทายภายนอก คือความผันผวนของค่าเงินบาท ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นหลังประสบภัยพิบัติ การแก้ปัญหาหนี้สินในยุโรป และการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน

"ไอเอ็มเอฟได้ประกาศปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นยังไม่ดีอย่างที่คิด และตอนนี้ยังเกิดวิกฤตในกรีซ แม้ รมว.คลังของเยอรมันและฝรั่งเศสจะอนุมัติการช่วยเหลือ ขณะที่อลัน กรีนสแปน มองกรีซจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งหากเกิดจริง เชื่อว่าจะกระทบไปทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย" ผอ.สศค. กล่าว

ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แนะให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้ระวังเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงินในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% คาดว่าสิ้นปีอยู่ที่ 3.5% ดังนั้นผู้รับเหมาะต้องระวังความเหมาะสมในการกู้เงิน ต้องดูแลกระแสเงินสด อย่ามีการบริหารงานที่เกินตัว เพราะอาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องได้ นอกจากนี้ให้ติดตามราคาวัสดุก่อสร้าง ให้มีการล็อคต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ