ในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ดึง 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ร่วมชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ดัชนีความสุขของประชาชน และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านเวที “ความท้าทายของพรรคการเมืองกับอนาคตเศรษฐกิจไทย"
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะไม่ส่งผลกระทบกับภาคเอกชน เพราะปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า300 บาท และพบว่า ค่าแรงเป็นต้นทุนสินค้าต่อชิ้นเพียงร้อยละ 15 ทั้งนี้ ได้เตรียมงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน แต่หากผู้ประกอบการรายใดใช้งบประมาณส่วนตัวก็สามารถที่จะนำรายจ่ายส่วนนี้ไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้2 เท่าก่อนนำไปจ่ายภาษี
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงอัตราเดียว ควรขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน โดยนโยบายของพรรคเป็นการขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได และได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงที่ร้อยละ 25 ไว้แล้ว โดยจะลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอุตสาหกรรม รวมทั้งเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการนำไปขยายกิจการ เป็นต้น
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ประธานพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า จะชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยเปิดให้เช่าที่ดินเช่นเดียวกับสิงคโปร์และเวียดนาม เพราะปัจจุบันยังมีที่ดินเกษตรของไทยว่างอีกกว่า 300 ไร่ รวมทั้งจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ไปตั้งโรงงานลงทุนตามแนวชายแดนไทย-เพื่อนบ้าน และหากเป็นแรงงานในระบบ จะตั้งงบประมาณให้ระดับนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. เรียนรู้เทคนิคอุตสาหกรรม ผลิตได้ถึงปีละ 1-2 แสนคน ส่วนแรงงานขั้นต่ำจะเปิดประตูให้แรงานต่างด้าวเข้ามาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ได้ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายให้ต่างชาติ ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้ปีละ 1 ล้านล้านบาท เพราะในสมัยที่ตนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยทำได้แล้ว 720,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่า ประเทศไทยจะกลับไปสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำของหลายพรรคการเมืองที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก อาจกระทบต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ โดยล่าสุด พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาถึง 2 ครั้ง ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นทบทวนการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในไทยแล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าไทย3-4เท่า ซึ่งจากสถิติพบว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน รองลงมา คือเวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะที่ มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้นสูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนว่าร้อยละ40 จากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการผลิตของภาคเอกชนโดยตรง ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการและภาคแรงงาน ร่วมหารือในเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งไม่ควรเกินร้อยละ3 และพรรคการเมืองก็ควรมีนโยบายจูงใจให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาเรียนในสายวิชาชีพมากยิ่งขึ้น โดยนำระบบการขึ้นทะเบียนรายได้และใบรับรองฝีมือมาใช้ในเด็กอาชีวะที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในสายวิชาชีพเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หลังจากได้รัฐบาลใหม่แล้ว ส.อ.ท. ต้องการให้รัฐบาลสร้างความสันติและปรองดองให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วน มีแนวทางสร้างรายได้ที่ชัดเจน พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นรากฐานรายได้ของประเทศ พร้อมกันนี้ จะเสนอแผนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและข้อเสนอต่างๆ ให้รัฐบาลใหม่ต่อไป ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคี และปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากต้องใช้เวลาในการปรับตัว ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะเสียเปรียบการแข่งขัน
รัฐบาลใหม่ควรดูแลภาคอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จะต้องเร่งปรับโครงสร้าง สนับสนุนกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะแรงงาน สนับสนุน Eco Industry Town รวมตัวพัฒนาคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบกว่า 140 เรื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดน นอกจากนี้ ยังต้องการเห็นการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรม เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐไทย เพราะมีสัดส่วนการผลิต คิดเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพี มีการจ้างงานถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งระบบ และมีการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 77 ของการส่งออกทั้งประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐ ควรให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว เพราะปัจจุบัน ขีดความสามารถการแข่งขันลดลงจากอันดับที่ 26 ในปี 2553 เป็นอันดับที่ 27 ขณะที่ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 90 ยังคงเป็นเอสเอ็มอี ซึ่งขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การเติบโตจึงไม่มีทิศทางทั้งในระยะสั้นถึงระยะยาว และยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558