นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเสวนา เรื่อง "คุณภาพมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยและข้าวไทย" ระหว่างการประชุม World Rice Standard Summit 2011 ที่จ.นครสวรรค์ว่า ขณะนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการบริโภคข้าว รวมถึงชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเกิดใหม่มากขึ้น และต้องการสินค้าคุณภาพสูง ดังนั้น ผู้ผลิตข้าวไทยต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าว เพื่อการเข้าถึงและขยายตลาดใหม่ๆ ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาตลาดเก่าด้วย
ด้านนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า มาตรฐานข้าวไทยเพื่อการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับคนในวงการข้าวและกำหนดจะใช้ใหม่นั้น จะมีมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยแท้ (Thai Hommali Rice) โดยจะกำหนดใหม่เป็น 2มาตรฐาน คือ มีเนื้อข้าวหอมมะลิแท้ 95% และมีเนื้อข้าวหอมมะลิแท้ 92% จากเดิมมีมาตรฐานเดียวคือข้าวหอมมะลิ 92% นอกจากนี้ ยังจะกำหนดให้มีมาตรฐานข้าวหอมมะลิผสมเพื่อการส่งออก(Blended Thai Hommali Rice) โดยจะกำหนดให้มีข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่า 80% และผสมข้าวอื่นผสมได้ไม่เกิน 20% จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้าวชนิดนี้
ส่วนข้าวขาวเพื่อการส่งออกจะกำหนดเป็น 2 มาตรฐานตามคุณสมบัติของข้าว จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเช่นกันทั้งนี้ อย่างไรก็ดีมาตรฐานดังกล่าวยังสามารถรับฟังความเห็นก่อนกำหนดเป็นข้อบังคับได้ เพื่อให้การปฎิบัติจริงเป็นไปได้ตามที่กำหนดไว้ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ส่งออกบางรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรฐานข้าวใหม่ โดยอ้างว่าเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นและราคาขายสูงขึ้น ทำให้ทำตลาดข้าวได้ยากมากขึ้น
ส่วนนายเคน บี ผู้จัดการบริษัท โกลล์ เกตส์ จำกัด ผู้ค้าข้าว(เทรดเดอร์) ในประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐานข้าวใหม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะผู้ซื้อจะมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น แต่ยังกังวลว่าไทยจะสามารถรักษามาตรฐานข้าวให้ได้ตามที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ ลูกค้าก็จะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวไทยและข้าวของคู่แข่ง เช่น เวียดนาม หรือพม่า
อย่างไรก็ตาม แม้การกำหนดมาตรฐานข้าวใหม่อาจทำให้ราคาสูงขึ้น แต่เชื่อว่าตลาดจะตอบรับได้ หากราคาสอดคล้องกับคุณภาพข้าว โดยไม่ควรนำราคาข้าวไปผูกติดกับเรื่องการเมือง แต่ควรให้เป็นไปตามกลไกตลาด