ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งหลังนักลงทุนซื้อเพื่อความปลอดภัย

ข่าวต่างประเทศ Friday June 24, 2011 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนมองว่าดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไร้ทิศทาง โดยเมื่อคืนนี้ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงจำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ที่ร่วงลงเกินคาด ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง แต่ก็สามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดในระหว่างวันได้ หลังจากคณะรัฐมนตรีกรีซมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายรัดเข็มขัดระยะ 5 ปี ซึ่งจะทำให้กรีซได้รับเงินกู้เพิ่มเติมจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง 0.66% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 1.4258 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.4353 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 0.40% แตะที่ 1.6008 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6072 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้น 0.34% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 80.560 เยน จากระดับ 80.290 เยน แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.12% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8385 ฟรังค์ จากระดับ 0.8395 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.49% แตะที่ 1.0521 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0573 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลง 0.04% แตะที่ 0.8142 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8145 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพราะเชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจยังไร้ทิศทาง โดยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย.พุ่งขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 429,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 415,000 ราย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ร่วงลง 2.1% สู่ระดับ 319,000 ยูนิต/ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐยังคงซบเซา

ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ยูโรสามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันได้ หลังจากคณะรัฐมนตรีกรีซมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายรัดเข็มขัดระยะ 5 ปี ซึ่งจะทำให้กรีซได้รับเงินกู้เพิ่มเติมจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะเดียวกันมีรายงานว่า แผนรัดเข็มขัดระยะ 5 ปีของกรีซได้รับการอนุมัติจากคณะผู้ตรวจสอบของอียูและไอเอ็มเอฟแล้ว ซึ่งแผนการดังกล่าวครอบคลุมถึงการขึ้นภาษีและลดงบประมาณการใช้จ่าย

ส่วนค่าเงินเยนอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่เยนได้รับแรงหนุนในระหว่างวันหลังจากนายโยชิฮิซะ โมริโมโต หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่าการผลิตและการส่งออกของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในไตรมาส 3 สู่ระดับก่อนเกิดภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มี.ค.

นักลงทุนจับดูกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยการประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกครั้งสุดท้ายในคืนนี้ตามเวลาไทย หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีที่แท้จริงปีนี้ ลงสู่ระดับ 2.7-2.9% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.1-3.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ