องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเผชิญกับภาวะวิกฤตรุนแรงที่เกิดจากหลากหลายปัจจัยบ่อยครั้งมากขึ้น
OECD ระบุในรายงานหัวข้อ Future Global Shocks ว่า "ภาวะวิกฤตรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นและจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่รุนแรงขึ้น"
รายงานดังกล่าวระบุถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 5 ประการที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีข้างหน้า อาทิ โรคระบาด การโจมตีบนโลกไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ วิกฤตการเงิน ความวุ่นวายด้านเศรษฐกิจสังคม และพายุแม่เหล็กโลก
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังอ้างถึงผลลัพธ์ที่เลวร้ายจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ในปี 2545 และราคาอาหารที่พุ่งสูง โดยชี้ว่าประชาคมโลกต้องยกระดับความร่วมมือและประสานงานกันอย่างจริงจัง
OECD ได้แนะให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการเปิดรับและแบ่งปันข้อมูล รวมถึงกำหนดรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายเพื่อให้สามารถคาดการณ์และประเมินภาวะตื่นตระหนกได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในบรรดาข้อเสนอแนะอื่นๆ ยังรวมถึงการดำเนินแนวทางการประสานงานในระหว่างประเทศเพื่อลดหรือยับยั้งมิให้ภัยคุกคามต่างๆ ขยายวงกว้างลุกลามไปทั่วโลก และยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความหลากหลายในระบบต่างๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ สำนักข่าวซินหัวรายงาน