นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค.54 อยู่ที่ 177.83 ลดลง 3.88% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.66% อุตสาหกรรมที่ทำให้ MPI ลดลง มีสาเหตมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์มีการผลิตลดลง เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตจากภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น รองลงมาเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับโทรทัศน์
"จากการที่ค่าดัชนีติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือน ก.พ.54 สศอ.จึงอยู่ระหว่างการประเมินปรับลดตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัว 6-8% และอัตราการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม (จีดีพี) ที่คาดว่าจะโต 5.5-6% โดยจีดีพีอุตสาหกรรมอาจจะปรับลดประมาณ 0.5-1%"นางสุทธินีย์ กล่าว
สำหรับการผลิตรถยนต์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายยังคงลดลง 32.5% และ 33.3% ตามลำดับ สาเหตุสำคัญเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีสูงจากบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นให้ได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตของไทยที่นำเข้าชิ้นส่วนเพื่อทำการผลิตประสบปัญหา ทำให้มีการปรับแผนการผลิตลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.ผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบได้เริ่มกลับมาผลิต 2 กะตามปกติแล้ว และคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติภายในไตรมาส 3/54 นี้
ด้าน Hard Disk Drive(HDD) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก(นับจาก ธ.ค.53)โดยเพิ่มขึ้น 0.2% และ 0.6% ตามลำดับ ขณะที่ยอดผลิตและจำหน่ายโดยรวม 5 เดือนที่ผ่านมา การผลิตและการจำหน่ายลดลง 11.8% และ 10.3% เนื่องจากการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น iPad ที่มีส่วนประกอบที่ใช้ไมโครอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวขับเคลื่อนและเก็บข้อมูลมาใช้งานมากขึ้น รวมถึงการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตโดยการย้ายการผลิต HDD บางส่วนไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นบริษัทลูกในเครือ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น
อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลง 1.0% และ 4.0% ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบปลาทูน่ามีปริมาณลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่วัตถุดิบกุ้งโตไม่ได้ขนาดและมีปริมาณลดลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายลดลงดังกล่าว
การผลิตเส้นใยสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 8.5% และ 18.7% เนื่องจากราคาฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีราคาที่ผันผวนสูงในขณะนี้ ส่งผลให้โรงปั่นชะลอการสั่งซื้อฝ้ายมาผลิตสินค้าเพื่อป้องกันภาวะขาดทุนจากสต๊อกที่นำเข้าราคาสูง แต่ต้องขายสินค้าในราคาที่ต่ำลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง(โรงทอผ้า)ต้องชะลอการผลิตสินค้าตามไปด้วย ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรม และรวมถึงภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อการส่งออก
ขณะที่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 17.5% และ 13.6% ตามลำดับ สาเหตุหลักเนื่องจากแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น เป็นผลทำให้ความต้องการ พัดลม, ตู้เย็น, กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 4.9% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในสินค้าอิเล็กทรอนิคส์สำเร็จรูปที่มีเทคโนโลยีสูงในตลาดยังมีอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ให้สูงตาม ทั้งจากโทรศัพท์มือถือประเภท Smart phone และอุปกรณ์ tablet ต่างๆ
ครึ่งปีหลังมองว่าสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ ปัจจัยทางการเมือง ผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณ และการจัดทำงบประมาณในขณะนี้ไม่เป็นไปตามระยะเวลาปกติ ตัวเลขงบประมาณยังต้องรอรัฐบาลใหม่ และอาจเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการปรับขึ้นค่าแรงที่น่าเป็นห่วงอยู่ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม