นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ภายหลังจากไทยถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกและภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก เนื่องจากผู้ส่งออกไทย, ผู้นำเข้ากัมพูชา ตลอดจนผู้บริโภคตามแนวชายแดนสามารถแยกแยะปัญหาชายแดนกับการค้าได้ โดยไม่ได้นำมาเชื่อมโยงกันให้เป็นปัญหา
"ผู้บริโภคชาวกัมพูชาคุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดีมาหลายสิบปี และทั้ง 2 ประเทศยังคงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันหนักขึ้นในการบริหารความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน" อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ไทยจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าใจว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 มีผลผูกพันทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค โดยเศรษฐกิจนั้น AEC ไม่ใช่ส่งผลดีแค่การส่งออกและนำเข้าเท่านั้น แต่หมายถึงการเคลื่อนย้ายทุน และแรงงานในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์
นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า มูลค่าการค้าไทย-กัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ของปีนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 32,859 ล้านบาท ลดลง 7.55% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป, น้ำตาลทราย, เครื่องดื่ม, ปูนซิเมนต์, เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ผัก ผลไม้และของปรุงต่างที่ทำจากผัก ผลไม้, สินแร่ โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น