นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเรื่องการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ(Inflation Linked Bond : ILB) ที่สหราชอาณาจักร, สิงค์โปร์ และฮ่องกง เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง, แนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในเชิงลึก, นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาตลาดตราสารหนี้กับนักลงทุนทั้งในยุโรปและเอเชีย
ทั้งนี้ จากการหารือพบว่านักลงทุนในต่างประเทศมีความต้องการให้มีการพัฒนาพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้สร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ โดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างเส้นผลตอบแทนอ้างอิงโดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุอื่นๆ นอกจากรุ่น 10 ปี
นอกจากนี้ นักลงทุนในต่างประเทศยังมีความคิดเห็นว่าการที่ประเทศไทยสามารถออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวถึง 50 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้ไทยได้พัฒนามาจนอยู่ในแนวหน้าของระดับสากลแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่มีพันธบัตรรัฐบาลยาวถึง 50 ปี อีกทั้งแผนการที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่าน ATM ถือเป็นแผนการที่ดีในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในเชิงลึก เนื่องจากเป็นการมุ่งเน้นดูแลกลุ่มนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มักจะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลในต่างประเทศมากนัก
ล่าสุด จากการสำรวจเบื้องต้น สบน.คาดว่าพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักลงทุน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่1.นักลงทุนรายย่อย (high net worth) และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (สหกรณ์มูลนิธิต่างๆ) 2.นักลงทุนสถาบันในประเทศ (สถาบันการเงิน กองทุนและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ) 3.นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ)
โดย สบน.จะเป็นผู้จัดสรรพันธบัตรให้อย่างเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานนักลงทุนไปยังกลุ่มใหม่ๆและสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง ทั้งนี้เพื่อให้ ILB เป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ Portfolio อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นดัชนีชี้นำการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อยังเป็นเครื่องชี้ถึงระดับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยที่ทัดเทียมกับตลาดตราสารหนี้ชั้นนำของโลกด้วย (ประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน Asia emerging economy market ที่ออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ)
อนึ่ง สบน.จะจัดจำหน่ายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อภายในวันที่ 11-13 ก.ค.54 โดยมีรายละเอียดดังนี้ เป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วและอัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยใช้ดัชนีผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เป็นดัชนีอ้างอิง อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วกำหนด ณ วันที่ 6 ก.ค.54 ส่วนการชำระคืนเงินต้นจะต้องชำระคืนไม่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว ณ วันไถ่ถอน ทั้งนี้มีวงเงินขั้นต่ำ 100,000 บาท
สำหรับตัวแทนจัดจำหน่าย ได้แก่ 1.ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ 3.ธนาคารกสิกรไทย 4.ธนาคารกรุงไทย
นายจัรกฤศฏิ์ กล่าวว่า สบน.จะจัดประชุม Market Dialogue ภายในเดือนก.ย.54 เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ค้าหลักและนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาเครื่องมือระดมทุนและตลาดตราสารหนี้ พร้อมทั้งกำหนดแผนการระดมทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ต่อไป