ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับวิกฤตหนี้สินยูโรโซนซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการวิกฤตนี้อย่างธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากนายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปคนปัจจุบัน กำลังจะหมดวาระลง ณ สิ้นเดือนตุลาคมนี้ จึงจำเป็นต้องมีการสรรหาผู้นำคนใหม่มาทำหน้าที่แทน
แรกเริ่มเดิมทีมีตัวเก็งสำหรับตำแหน่งนี้สองคน ได้แก่ นายแอ็กเซล เวเบอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนี และนายมาริโอ ดรากี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี แต่รายแรกประกาศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่ง ตัวเก็งจึงเหลือเพียงหนึ่งเดียว และเมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้รับรองให้นายดรากีขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรปคนต่อไป จากนั้นระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ผู้นำประเทศสมาชิกอียูก็ได้ตัดสินใจรับรองนายดรากีให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และจะอยู่ในวาระนาน 8 ปี หรือจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2562
ชื่อของนายมาริโอ ดรากี อาจฟังไม่คุ้นหูนักเมื่อเทียบกับนายฌอง-คล็อด ทริเชต์ ผู้อยู่ในวาระมานาน 8 ปี แต่ในประเทศอิตาลีรวมถึงในวงการเศรษฐศาสตร์และการเงินโลกนั้น เขาได้รับความเคารพนับถือในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และนายธนาคารที่เพียบพร้อมทั้งความสามารถและประสบการณ์อันโชกโชน
นายมาริโอ ดรากี เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2490 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ปัจจุบันอายุ 63 ปี สถานภาพสมรสแล้ว มีบุตร 2 คน เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เมื่อปีพ.ศ.2520 ก่อนที่จะรับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ในช่วงปีพ.ศ.2524-2534 ในปีพ.ศ.2552 เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์สาขาสถิติจากมหาวิทยาลัยแพดัว และในปีพ.ศ.2553 เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์สาขาบริหารธุรกิจจาก CUOA Foundation ในวิเชนซ่า ประเทศอิตาลี
ด้านการทำงาน เขาเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารโลกช่วงปีพ.ศ.2527-2533 นอกจากนั้นยังเคยเป็นรองประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท โกลด์แมน แซคส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระหว่างปีพ.ศ.2545-2548 และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารบริษัทช่วงปีพ.ศ.2547-2548
เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2548 และเป็นสมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป รวมถึงสมาชิกคณะกรรมการบริหารธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) นอกจากนั้นยังเป็นตัวแทนของอิตาลีในสภาผู้ว่าการธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ในปีพ.ศ.2549 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Forum) ซึ่งเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) เมื่อปีพ.ศ.2552 และล่าสุดก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป
แม้นายดรากีจะมีประวัติการศึกษาและการทำงานที่ดีเลิศ ทั้งยังได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ แต่การขึ้นดำรงตำแหน่งของเขาก็ยังมีอุปสรรค เนื่องจากทางฝรั่งเศสแสดงความกังวลว่า เมื่อนายทริเชต์ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสลงจากตำแหน่งและนายดรากีขึ้นดำรงตำแหน่งแทน จะทำให้มีชาวอิตาเลียน 2 คนในคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 6 คน โดยไม่มีตัวแทนจากฝรั่งเศสเลย ดังนั้นประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส จึงเรียกร้องให้นายลอเรนโซ บินี สมากี ชาวอิตาเลียนอีกคนในคณะกรรมการบริหาร ยอมสละตำแหน่งให้กับผู้แทนจากฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงจะให้การสนับสนุนนายดรากีแต่โดยดี
เมื่อต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าอิตาลีต้องเลือกให้คนของตนได้ดำรงตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ของอิตาลี จึงให้คำมั่นกับฝรั่งเศสว่าจะเกลี้ยกล่อมให้นายสมากีสละตำแหน่งให้กับตัวแทนจากฝรั่งเศส แต่ปัญหายังไม่จบ เมื่อนายสมากียังไม่มีท่าทีว่าจะลงจากตำแหน่งก่อนหมดวาระในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ.2556 ขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎห้ามไม่ให้คนสองคนที่มีเชื้อชาติเดียวกันดำรงตำแหน่งพร้อมกันในคณะกรรมการบริหาร นายสมากีจึงมีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจว่าจะลงจากตำแหน่งหรือไม่โดยที่ใครก็ไม่สามารถบังคับได้ อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายแฮร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) อ้างว่า นายสมากีกล่าวกับพวกเขาว่าจะยอมลงจากตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งทั้งฝรั่งเศสและอิตาลีเองก็หวังให้เป็นเช่นนั้น เพื่อให้การขึ้นดำรงตำแหน่งของนายดรากีเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
แม้จะมีความวิตกกังวลอยู่บ้างกับการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำธนาคารกลางยุโรปในช่วงที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อมั่นว่านายดรากีจะสามารถสืบสานงานต่อจากนายทริเชต์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเขายืนยันต่อหน้ารัฐสภายุโรปว่า เขามีแนวคิดด้านนโยบายการเงินและการแก้วิกฤตหนี้สินกรีซที่สอดคล้องกับแนวคิดของนายทริเชต์ ขณะที่นายรอมปุยซึ่งเป็นประธานอียูก็ออกมาสนับสนุนว่า นายดรากีจะแสดงความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาปกติ และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้
นอกจากนั้นวีรกรรมในอดีตของนายดรากียังตอกย้ำถึงความสามารถในการกู้วิกฤตได้เป็นอย่างดี โดยในสมัยที่นายอันโตนิโอ ฟาซิโอ ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีคนก่อน เข้าไปมีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชั่นในองค์กรจนทำให้ชื่อเสียงของธนาคารกลางอิตาลีมัวหมอง นายดรากีก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถเข้ามากอบกู้ชื่อเสียงของธนาคารกลางจนได้รับฉายาว่า “ซูเปอร์มาริโอ" และความนิยมของเขาก็พุ่งพรวดจนหลายคนถึงขั้นสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลี นอกจากนั้นในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เขายังเป็นผู้นำในการปฏิรูประบบการธนาคารโลก ในฐานะประธานคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน
ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของนายดรากี พอจะทำให้ผู้นำยุโรปและทั่วโลกอุ่นใจได้ว่าวิกฤตหนี้สินยูโรโซนกำลังจะอยู่ในมือของคนที่ “รู้งาน" ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่านายดรากีจะสามารถพลิกฟื้นยูโรโซนได้เหมือนที่เคยฟื้นฟูธนาคารกลางอิตาลีมาแล้ว อย่างไรก็ดี ผลงานของเขาจะออกมาดีแค่ไหนต้องจับตาดูตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป และเมื่อถึงเวลานั้นเราจะได้รู้ว่า “ซูเปอร์มาริโอ" จะช่วยกู้วิกฤตยุโรปและปกป้องโลกได้หรือไม่