สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก และกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก คัดค้านการปรับลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เนื่องจากเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ หลังจากได้ยื่นหนังสือข้อเสนอให้แก่ภาครัฐไปแล้วเมื่อต้นเดือนพ.ค.54
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการโรงงานเซรามิกส์ได้เคยเสนอ 5 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ได้รับการช่วยเหลือเพียงแค่ 1 มาตรการเท่านั้น ซึ่งอีก 4 มาตรการยังไม่มีการช่วยเหลือออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG จริง จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ดังนี้
1.ต้นทุน LPG ปรับสูงขึ้นประมาณ 70% + ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ก๊าซ LPG ในการอบแห้ง ปรับสูงขึ้นประมาณ 8% 2.การปรับราคา LPG ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งถ้าดูในกรอบ AEC (กัมพูชา, บรูไน, พม่า, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และ ไทย) จะเห็นว่าเซรามิกมีอัตราการเติบโตสำหรับการนำเข้าในปี 2010 เทีบกับปี 2009 ที่ 57.81% แต่อัตราการเติบโตสำหรับการส่งออกอยู่ที่ 12.37% 3.อุตสาหกรรมเซรามิกบางรายปรับตัวไม่ทัน
"ทางกลุ่มเซรามิก เห็นว่าควรชะลอการปรับราคาก๊าซ LPG ออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างเป็นรูปธรรม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมจะปรับราคาก๊าซ LPG จาก 18.13 บาท/กิโลกรัม เป็น 30.13 บาท /กก. ซึ่งจะทะยอยขึ้นไตรมาสละ 3 บาท ต่อเนื่องกัน 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.54 เป็นต้นไป ขณะที่ปัจจุบันมีโรงงานเซรามิกที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง มีอยู่ประมาณ 70 โรงงาน (ขนาดกลางและขนาดใหญ่) มีการจ้างงาน 25,000 คน มียอดการส่งออกกว่าหมื่นล้านบาท ยอดใช้ LPG ประมาณ 60,000 ตัน/ปี คิดเป็น 1 % ของปริมาณการใช้ LPG ทั้งหมด ซึ่งมีเท่ากับ 5,948,870 ตัน/ปี