Analysis: "คริสติน ลาการ์ด" ใช้ชั้นเชิงการเมืองนำนาวา IMF ชดเชยจุดอ่อนด้านเศรษฐศาสตร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 29, 2011 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเป็นนักเจรจาที่มีเสน่ห์ดึงดูดและมีความรู้ความเข้าใจในเชิงการเมืองอย่างหาตัวจับได้ยาก ถือเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดที่ทำให้นางคริสติน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสผู้นี้ ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเธอก็ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติดังกล่าวเมื่อช่วงดึกวานนี้ตามเวลาประเทศไทย

ลาการ์ดสามารถชนะเกมนี้ได้ แม้เธอไม่มีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ต่างก็คัดค้านการเสนอชื่อชาวยุโรปให้นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยไอเอ็มเอฟตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมานาน

นักวิเคราะห์มองว่า การที่ลาการ์ดได้รับชัยชนะในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะอิทธิพลทางการเมืองของเธอ

ฌอง-หลุยส์ มูริเยร์ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท ออเรล บีจีซี กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "การที่เธอมีประสบการณ์ในฐานะนักกฎหมาย เธอรู้ว่าเธอจะเจรจาและโน้มนาวอย่างไร ขณะเดียวกันเธอก็รู้ว่าช่วงเวลาไหนจำเป็นจะต้องประนีประนอม นอกจากนี้ เธอยังมีอาชีพที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องกลไกการทำงานของสถาบันระหว่างประเทศ ต้นทุนทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้ลาการ์ดได้ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ"

ในมุมมองของมูริเยร์นั้น ความกว้างขวางทางการเมืองจะช่วยชดเชยข้อด้อยทางเทคนิคในเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้กับลาการ์ดได้ และจะช่วยให้เธอนำความสามารถในเชิงการเมืองไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรระดับโลกอย่างไอเอ็มเอฟ

"เมื่อเทียบกับผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟหลายคนก่อนหน้าเธอและเมื่อพิจารณาจากการที่เธอไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แล้ว การบริหารจัดการของลาการ์ดจะใช้ทักษะทางการเมืองมากกว่าทางเทคนิค" มูริเยร์กล่าว

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์กล่าวว่า "ลาการ์ดมีสัญชาติญาณทางการเมืองที่ยอดเยี่ยม และเธอเป็นนักเจรจาที่ดีที่จะทำให้เป้าหมายการเจรจานั้นบรรลุผล แต่เธอควรจะสานต่องานที่โดมินิก สเตราส์-คาห์นได้ทำไว้"

ในช่วงที่สเตราส์-คาห์นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟนั้น เขาได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อที่จะให้ประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีสิทธิออกเสียงในไอเอ็มเอฟมากขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้เขาได้รับการยอมรับทั้งในประเทศตนเองและต่างประเทศ ซึ่งดูได้จากโพลล์ทุกสำนักที่บ่งชี้ว่า ประชาชนต้องการให้เข้าสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่อจากนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี

ลาการ์ดก็ไม่แตกต่างจากสเตราส์-คาห์น เมื่อเธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปไอเอ็มเอฟให้เป็นองค์กรที่มีการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตมากขึ้น มีการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก 187 ประเทศ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น และดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้กรีซถือเป็นบททดสอบแรกที่จะพิสูจน์ความแข็งแกร่งและความเด็ดขาดของลาการ์ดในฐานะผู้อำนวยการคนใหม่ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งเธอก็เดินหน้าเรื่องนี้ทันทีด้วยการเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านของกรีซร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต

ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนของฝรั่งเศสที่ผลักดันให้มีการใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่กับกรีซในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คำมั่นสัญญาของลาการ์ดที่ว่าเธอจะไม่ปล่อยให้กรีซต้องถูกอัปเปหิออกจากยูโรโซนนั้น ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

บทวิเคราะห์โดย อูนิสซิ โซเนีย และจาง ซิน จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ