นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทาง ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ คือ ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่แม้ว่าตอนนี้กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือชั่วคราวแล้ว แต่มองว่าจะช่วยพยุงสถานการณ์ได้ระยะหนึ่ง เพราะปัจจัยพื้นฐานยังต้องมีการแก้ไขปัญหา
"อย่างน้อยปัญหาของกรีซจะทำให้ระยะสั้นปัญหาไม่ลุกลามไปกระทบประเทศยุโรปอื่นๆ" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
หากปัจจัยทั้ง 2 คลี่คลายลงจะทำให้ค่าเงินบาทกลับเข้าสู่ระดับที่สอดคลัองกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแม้จะอ่อนค่า แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอาจจะทำเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะไทยมีการนำเข้าน้ำมัน แต่กรณีของไทย ศูนย์วิจัยของธปท. คำนวณว่าอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์กันในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า 1% เงินเฟ้อจะลดลง 0.1-0.15% กลับกัน ถ้าเงินบาทอ่อนค่า 1% เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น 0.1-0.15% เพราะการอุปโภคบริโภคโดยรวมของไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศไม่สูง เพราฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อเงินเฟ้อไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มีการใช้น้อยมาก เพราะค่าเงินสกุลใหญ่มีความไม่มั่นคงสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้นโยบาย 3 ด้านประกอบกัน คือ 1.เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี 2.อัตราดอกเบี้ย และ 3. อัตราแลกเปลี่ยน ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยไทยเลือกนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีและอัตราดอกเบี้ยที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ถือว่าเหมาะสมกับปัจจุบัน และธปท.จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกด้วย
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ธปท.ยังจะให้น้ำหนักกับการดูแลอัตราเฟ้อต่อไป เพราะยังมีแรงกดดันอยู่ เพื่อไม่ให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการค่าครองชีพอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังประสานกัน เพื่อไม่ให้น้ำหนักมากไปในด้านใดด้านหนึ่ง หากนโยบายการคลังเข้ามาช่วยนโยบายการเงินก็ไม่ต้องเข้มงวดมากนัก
"ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือกัน นโยบายการเงินก็ปรับจากการใช้ดอกเบี้ยผ่อนคลายที่อยู่ที่ 1.25% ขณะนี้พยายามปรับเข้าสู่ระดับปกติ" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
ส่วนนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ส่วนใหญ่เน้นแนวทางประชานิยมนั้น นายประสาร มองว่า ไม่จำเป็นต้องขาดดุลงบประมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาทเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ หากนโยบายการคลังส่งสัญญาณไปสู่ตลาดในระดับไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า
"เวลานี้การหาเสียงของพรรคการเมือง แม้ว่าจะเป็นประชานิยม แต่หลังเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลในช่วงทำแผนราชการอาจจะมีการเสนอแผนจากหลายฝ่าย ก็อาจจะไม่ใช้ประชานิยมมากก็ได้ แต่ก็ต้องรอดูงบปี 55 ให้ชัดเจนก่อน"นายประสาร กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง ตลาดการเงินก็อ่านทิศทางนโยบายการเงินว่าจะไปกระตุ้นในทิศทางไหน หรือรักษาเสถียรภาพ ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจพอสมควรแล้ว และมีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ตลาดการเงินไม่คาดหวังว่านโยบายการคลังจะกระตุ้นเศรษฐกิจไปมากกว่านี้
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการที่ได้ไปสัมมนาต่างประเทศ พบว่าประเทศในยุโรปและสหรัฐหันมาให้ความสนใจนโยบายการคลังกันมากขึ้น
"เป็นบทเรียนที่ไทยต้องนำแนวคิดนี้กลับมาใช้ เพราะถ้าเข้าสู่สถานการณ์แล้วจะแก้ไขยาก เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีส่วนหนึ่งที่เกิดจากการใช้นโยบายสร้างขึ้น และปัญหาที่เกิดมาจากธรรมชาติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว เช่น ไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จะทำให้มีแรงงานน้อยลง ขณะที่คนสูงอายุมากขึ้น ในอนาคตจะสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลัง ดังนั้นไทยควรมีเป้าหมายไปในทิศทางนี้เช่นกัน" นายประสาร กล่าว