วิจัยกสิกรฯคาดส่งออกไทยไปจีนยังโต แต่ไม่ร้อนแรงเท่าปีก่อน,ทั้งปีโต 10-15%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2011 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกไทยไปจีนในปี 2554 ไว้ที่ระดับร้อยละ 10-15 ชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 33.2 ในปี 2553 แม้ว่าในเดือนพ.ค. การส่งออกไทยไปจีนจะขยายตัวร้อยละ 21.2(YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 21 ในเดือนก่อนหน้า

โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีความโดดเด่นในเดือนนี้ก็คือ อุตสาหกรรมเกษตรที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 67.1 (YoY) นำโดยน้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เครื่องเทศสมุนไพร และสิ่งปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรมก็เติบโตถึงร้อยละ 51.2(YoY) ซึ่งยังคงนำโดยสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่พื้นที่เกษตรและทำการประมงน้ำจืดในหลายมณฑลของจีนได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม ประกอบกับการที่ภาครัฐมีมาตรการตัดไฟ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีประมาณ1 ใน 5 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในจีน เผชิญกับภาวะแม่น้ำที่แห้งขอด จนส่งผลให้ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงประมาณร้อยละ 20 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งแหล่งที่พักอาศัยและโรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 24 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนโดยรวมในเดือน พ.ค.2554 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 70 นั้น เติบโตราวร้อยละ 14.4 จึงส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในเดือน พ.ค.2554 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 21.2

"คาดว่ายอดส่งออกสินค้าไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังปี 2554 น่าจะยังขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งหลังปี 2553 ที่เติบโตระดับร้อยละ 22.7 (YoY)" ศูนย์วิจัย ระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกไทยไปจีนหลังปี 54 จะไม่ร้อนแรงเท่าปีก่อนหน้า อันเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเริ่มบ่งชี้สัญญาณอ่อนแรงลงตามเจตนารมณ์ของทางการจีน แต่ก็คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังสามารถเติบโตได้ โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคที่แท้จริงภายในประเทศ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผนวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังยืนอยู่ในระดับสูง รวมไปถึงความตึงตัวของอุปทานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรบางประเภท ท่ามกลางความแปรปรวนของภาวะอากาศในประเทศจีน ที่ทำให้จีนอาจจะยังต้องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนสินค้าอาหารและเกษตรภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศจีนจะเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย และมีโอกาสจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันสินค้าจีนเองก็ยังมีความได้เปรียบเหนือไทยหลายประการในตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็น 1.กลุ่มสินค้าที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หรือกลุ่มสินค้า Mass Products (เช่นสินค้ากลุ่มของขวัญของชำร่วย เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และปากกา เป็นต้น) เนื่องจากประเทศจีนมีค่าแรงถูกกว่า 2.สินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (เช่น การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น) เพราะรัฐบาลจีนให้การอุดหนุน และสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างจริงจังเพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งอาจส่งผลกดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทั้งจากความได้เปรียบของราคาสินค้าจากจีน และเทคโนโลยีเพื่อการผลิตที่กำลังเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวทั้งในส่วนของการเปิดเกมรุกบุกตลาดจีน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะแข่งขันกับสินค้าจีนด้วย ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนการผลิต ระบบขนส่งและสินค้าคงคลัง การปรับผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาด ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะสม เพื่อประคองธุรกิจให้ฝ่าพ้นปัญหาต้นทุนที่พุ่งสูง

นอกจากนี้ การปรับปรุงกระบวนการทางผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ก็นับเป็นอีกย่างก้าวที่สำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ควรทำความเข้าใจพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภค ศึกษาตลาดสินค้าของตนเองหรือที่เกี่ยวเนื่องในเชิงลึกเพื่อพัฒนาไปสู่การแข่งขันด้านรูปลักษณ์และคุณภาพของสินค้ามากขึ้น รวมไปถึงการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับ พัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาและสร้างโอกาสทางการแข่งขันในยุคที่จีนกำลังต้องการลบภาพลักษณ์การผลิตสินค้าราคาถูกแต่ด้อยคุณภาพ ไปสู่ การผลิตสินค้าที่มีความแข็งแกร่งทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ