นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน ยังรอนายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศ คำสั่งนายกรัฐมนตรีฯ เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะหาก นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการเซ็นลงนามในหนังสือดังกล่าว จะไม่สามารถลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ได้ ทำให้ไม่สามารถปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมในวันที่ 1 ก.ค.ได้
ที่สำคัญจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯได้ เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของภาคอุตสาหกรรมให้ครอบคุลมมากขึ้นไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและโรงพยาบาลด้วย
"จากการสอบถามไปยัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในประกาศดังกล่าว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ ที่สำคัญในช่วงนี้เป็นเวลาระหว่างยุบสภาผู้แทนราษฎรและหาเสียงเลือกตั้งใหม่ด้วย ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณากลั่นกรองในข้อกฎหมายอยู่ ทำให้ยังไม่ทราบกำหนดเวลาชัดเจนในการประกาศใช้มาตรการลอยตัวแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมได้เมื่อไร"นายวีระพล กล่าว
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมออกมาคัดค้านการประกาศขึ้นราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งสะท้อนถึงผลเสียของการตรึงราคาพลังงานไว้ในระยะเวลายาวนานเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการซึ่งเคยชินกับการใช้พลังงานที่ถูกไม่พอใจเมื่อจะมีการปรับขึ้นราคา และไม่เห็นด้วยหากจะมีการเลื่อนระยะเวลาในการปรับราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมออกไปอีก 3 ปี เนื่องจากเรื่องการปรับราคาแอลพีจีนี้พูดกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ผู้ประกอบการละเลยที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ โดยหลังจากนี้ต้องจับตาดูนโยบายการลอยตัวราคาพลังงานอื่นๆ เช่น เอ็นจีวี หรือน้ำมันดีเซลก็จะมีเหตุการณ์การต่อต้านจากผู้ที่เสียประโยชน์อีก