Analysis: สื่อจีนคาดนโยบายคุมเข้มการเงินใกล้ปิดฉาก หลังคุมเงินเฟ้อได้ผล

ข่าวต่างประเทศ Friday July 1, 2011 09:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นโยบายคุมเข้มการเงินของจีนรอบนี้อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่แล้วในการควบคุมเงินเฟ้อ ภายหลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง การขึ้นสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 12 ครั้ง และการออกตั๋วเงินคลังของธนาคารกลางจีน 100 งวด

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้เครื่องมือทางการเงินใดๆอาจจะส่งผลกระทบด้านลบได้ โดยหลังจากที่มีการประกาศขึ้นสัดส่วนการกันสำรองแบงก์พาณิชย์หลายครั้ง ปรากฏว่าธนาคารและบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมต่างประสบปัญหาในการสร้างสภาพคล่องและเงินทุน ในขณะที่ระบบการเงินพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ก็ได้รับผลกระทบ จึงทำให้แทบไม่มีโอกาสที่ทางการจีนจะขึ้น RRR อีก

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น การตัดสินใจว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ควรจะต้องพิจารณาจากภาพรวมด้วย

ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันมานานนั้น ยากที่จะเกิดขึ้นจริง โดยเหตุผลหลักที่ธนาคารกลางจีนลังเลที่จะขึ้นดอกเบี้ยก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น อีกทั้งยังกดดันอุปสงค์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะถือเป็นเรื่องที่ไม่รอบคอบในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง

หากธนาคารกลางจีนขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็น่าจะเป็นเพราะธนาคารคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากธนาคารกลางคาดว่า CPI จะขยายตัวแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3 ความเป็นไปได้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยก็จะลดลงอย่างมาก

สำหรับประเด็นตั๋วเงินคลังนั้น ธนาคารกลางจีนได้ออกตั๋วเงินคลังแล้วกว่า 2.7 ล้านล้านหยวน และคาดว่าจะออกตั๋วเงินคลังมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวนต่อเดือนในช่วง 4 เดือนข้างหน้าเพื่อชดเชยกับตั๋วเงินคลังที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ดังนั้นโอกาสที่จะมีการดูดซับสภาพคล่องผ่านการออกตั๋วเงินคลังจึงมีน้อย

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของตั๋วเงินคลังของธนาคารกลางที่อยู่ในระดับสูงนั้น อาจจะกลายเป็นภาระหนักสำหรับธนาคารกลางเอง

ขณะที่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่สามารถแสดงบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมเงินเฟ้อ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ก็คือ การสร้างเสถียรภาพหรือเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เรื่องการแข็งค่าของเงินหยวน มากกว่าการเร่งให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น

นโยบายการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด โดยจำเป็นต้องใช้ร่วมกับนโยบายการคลัง นโยบายการจัดเก็บภาษี และนโยบายกำหนดราคา เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว กำลังจะปรากฎผลให้เห็นแล้ว ด้วยเหตุที่นโยบายการเงินจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล ดังนั้นจึงคาดว่ามาตรการคุมเข้มน่าจะส่งผลต่างๆได้ใน 1-2 ไตรมาสหน้า

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน การขยายตัวของ CPI มีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ระดับสูงสุดในไตรมาส 3 และปรับตัวลงในไตรมาส 4

หลังจากนั้น การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดก็อาจจะสิ้นสุดลง แม้ว่าธนาคารกลางอาจจะยังคงใช้นโยบายแบบรอบคอบต่อไปก็ตาม

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อใดที่นโยบายการเงินจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างเป็นรูปธรรม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ