(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI พ.ค.54 เพิ่มขึ้น 4.06% Core CPI เพิ่มขึ้น 2.55%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2011 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ 112.54 เพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.56%

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ 106.27 เพิ่มขึ้น 2.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.91%

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่อยู่ระหว่าง 0.5-3.0% ถือว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.54 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของ ธปท.

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรกซึ่งอยู่ในระดับ 3.56% นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพดีตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐ เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ, การดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มิ.ย.54 อยู่ที่ 133.12 เพิ่มขึ้น 0.44% จากเดือน พ.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.76% โดยเหตุที่ดัชนีเพิ่มขึ้น 0.44% มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด เช่น ผักสดสูงขึ้น 5.25% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากฝนชุก, ไก่สด สูงขึ้น 1.93% ปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้น 0.13% และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 0.56% เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.50 ลดลง 0.07% จากเดือน พ.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.81% สาเหตุที่ดัชนีลดลงจากเดือนพ.ค. เป็นเพราะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.88% ตามภาวะราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.นี้จะอยู่ในระดับ 3.5% ส่วนช่วงไตรมาส 3/54 จะลดลงเล็กน้อยจากที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ปรับราคาขึ้นมากนัก ขณะที่ราคาสินค้าอาหารสดมีแนวโน้มลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ จะอยู่ในกรอบเดิมที่วางไว้คือ 3.2-3.7% โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน และอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ