สมาคมรับสร้างบ้าน ห่วงน้ำมันแพง-ขาดแคลนแรงงานฉุดตลาดครึ่งปีหลังสะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2011 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน(Thai Home Constructions Association:THCA) คาดแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แต่เป็นห่วงผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงและการขาดแคลนแรงงาน

"แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 3 และครึ่งปีหลัง สมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้านยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานที่ตลาดใหม่และมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีอยู่ทั่วประเทศ" นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ระบุในเอกสารเผยแพร่

โดยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านช่วงครึ่งปีแรกทั่วประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง ส่วนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติบโตแบบชะลอตัวลง ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงของกลุ่มผู้นำตลาด ขณะที่ตลาดในต่างจังหวัดมีแนวโน้มสดใส

"ก่อนหน้านี้การขยายตลาดรับสร้างบ้านไปต่างจังหวัดดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะกระบวนการบริหารจัดการมีความซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะบริษัทรับสร้างบ้านรายเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ยังขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจน" นายสิทธิพร กล่าว

นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า จะผลักดันให้สมาชิกไปเปิดตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานมากขึ้น โดยมองว่าภูมิภาคดังกล่าวเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ประชาชนจะมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการสร้างบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยหลังใหม่ขยายตัวตามไปด้วย โดยปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกประเภทธุรกิจรับสร้างบ้านหรือสามัญสมาชิกจำนวน 18 รายทั่วประเทศ สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 48 จังหวัด

นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะกว่า 80% เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ขาดความเข้มแข็งในด้านเงินทุนและการตลาด ฉะนั้นหากต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติภายใต้กรอบการเปิดเสรีทางการค้า(AEC) ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่สามารถแข่งขันได้

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้แก่ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน และปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยประเมินว่าราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7-12%

ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานและช่างฝีมือเริ่มขยายตัวในวงกว้างไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ