พณ.เผยจดทะเบียนธุรกิจใหม่ H1/54 พุ่ง25%, จับตาเงินเฟ้อ-ราคาน้ำมันใน H2

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2011 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) 54 ว่า มีผู้ประกอบการมาขอจดจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด ทั่วประเทศ 31,500 ราย เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 6,378 ราย มีทุนจัดตั้งรวมทั้งหมด 161,000 ล้านบาท ลดลง 1% หรือลดลง 2,489 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการนันทนาการ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริการจัดการ

ขณะที่ยอดการจดทะเบียนทั่วประเทศเฉพาะเดือนมิ.ย. 54 มี 5,432 ราย เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับมิ.ย.ปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 1,111 ราย ส่วนทุนจัดตั้งมีมูลค่า 22,400 ล้านบาท ลดลง 33% หรือลดลง 11,400 ล้านบาท โดยธุรกิจที่จดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริการนันทนาการ ก่อสร้างทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการธุรกิจอื่น และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ

"แนวโน้มการจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในแง่ปริมาณ เป็นเพราะผู้ประกอบการให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก จากการส่งออก การลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งดัชนีในตลาดหุ้นของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าทุนที่ลดลงสวนทางกับจำนวนธุรกิจจัดตั้ง อาจเป็นเพราะธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใช้เงินลงทุนไม่สูง"นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับการจดทะเบียนยกเลิกกิจการช่วง 6 เดือน 54 มี 3,778 ราย เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 793 ราย มีมูลค่าทุนยกเลิก 18,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% หรือเพิ่มขึ้น 6,176 ราย โดยธุรกิจที่ยกเลิกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น ตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้จัดนำเที่ยว และขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ด้านยอดจดทะเบียนยกเลิกกิจการ มี 1,088 ราย เพิ่มขึ้น 122% หรือเพิ่มขึ้น 599 ราย มีทุนจดทะเบียนยกเลิก 6,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57 หรือเพิ่ม 2,206 ราย โดยธุรกิจที่จดทะเบียนยกเลิกสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ก่อสร้า งอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น ขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า และขายส่งวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ แม้ขณะนี้จะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและภาคขนส่ง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ