นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "แผนฯ 11 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นั้น ถือเป็นแผนที่ดีที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ มีการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็นความสอดคล้องกับการพัฒนาและจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่เป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลใหม่ และประเทศที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้แผนดังกล่าวประสบความสำเร็จ ซึ่งอุปสรรคดังกล่าว ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ จะได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ อุปสรรคเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อขีดความสามารถด้านการผลิตสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ สังคมไทยยังอยู่ในช่วงของการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยมีประชากรในวัยแรงงานลดลง และที่สำคัญ คือ ปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคมที่จะต้องหาแนวทางแก้ไข สร้างความเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องของรายได้และการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายการทำงานของรัฐบาลใหม่เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าในอดีตการกระจายรายได้จะเป็นการจัดเก็บภาษีจากคนมีรายได้สูงมาช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องคิดในเชิงปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีที่ยืนและโอกาส สุดท้าย คือ ปัญหาด้านการเมือง
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แผนฯ 10 ประเทศไทยประสบปัญหาการเมืองอย่างรุนแรง แต่ด้วยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ก็ทำให้ผ่านปัญหามาได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจทั้งในระยะกลาง และระยะยาว ส่วนในระยะ 2 ปีข้างหน้าในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ควรจะเร่งสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพของคนด้วยการปฏิรูปการศึกษา โดยมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาคุณภาพของเยาวชน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว และผลักดันให้การศึกษาสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างกลมกลืน โดยจะต้องเน้นการพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานของประเทศ
นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างความมั่นคงในชีวิต และการมีหลักประกัน โดยเฉพาะกลุ่มภาคการเกษตรที่มีความมั่นคงด้านรายได้น้อย ซึ่งการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรถือว่าเป็นรากฐานทางด้านความมั่นคงทางอาหารที่ดี และจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตของกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตทุกด้าน เพื่อที่จะให้ไทยทำหน้าที่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนกับเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืน
"หาก 5 ปีข้างหน้า การเมืองของประเทศไทยยังเป็นเหมือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ให้ไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งวันนี้หลังจากมีกระบวนการทางประชาธิปไตย ก็หวังว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบรัฐสภา ต้องลดความแตกแยก ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันช่วยให้รัฐบาลใหม่สามารถทำงานได้อย่างมีเอกภาพและมีกำลัง เพื่อที่จะช่วยให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 บรรลุเป้าหมาย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว