นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การส่งออกไตรมาส 3/54 จะมีทิศทางชะลอลง โดยจะขยายตัวได้ในระหว่าง 11.3 -18.1% หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 14.7% ที่มูลค่า 57,444 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงจากการส่งออกในไตรมาส 2/54 ที่ขยายตัวได้ 15.4%
สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกไทยในไตรมาส 3 ประกอบด้วย 5 ปัจจัย คือ 1.การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกชะลอลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มชะลอลง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีโน้มชะลอลงต่อเนื่องนับจากต้นปี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้สูง นอกจากนี้ World Bank ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2554 จาก 3.3% ลงมาเหลือ 3.2%
2.ทิศทางราคาน้ำมันดิบและราคาพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อต้อทุนการผลิตและการขนส่งของผู้ส่งออกไทย โดยคาดว่าทั้งปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 102 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มจากที่ระดับ 79 ดอลลาร์/บาร์เรล ในปี 53
3.ทิศทางค่าแรงงานที่สูงขึ้น คาดว่าจะกระทบต่อต้นทุนสินค้าส่งออก ทิศทางค่าแรงที่สูงขึ้นคาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่พึ่งแรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและมีการแข่งขันสูง
4.ทิศทางราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น การที่ราคาสินค้าในกลุ่มเกษตรมีทิศทางทางสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตรของไทย
5.การค้าในกลุ่มอาเซียนขยายตัวได้ดี โดยสัดส่วนตลาดส่งออกไปอาเซียนของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียยังขยายตัวได้ดี คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทย
นายอัทธ์ ประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 54 จะชะลอตัวลงเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 112,037 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 9.5% ส่วนภาพรวมการส่งออกทั้งปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 221,090-229,125 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวในช่วง 13.2-17.3% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 28.1% ในปี 53