ม.หอการค้าฯ ชี้ปรับค่าแรง-เงินเดือนป.ตรี เป็นปัจจัยลบส่งออกไทยปี 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2011 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลชุดใหม่ว่า จะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้การส่งออกของไทยในปี 55 ชะลอตัวลง เนื่องจากศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลงจากการปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออกตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันกับสินค้าของประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และจีน เป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้น

ทั้งนี้ จากผลการศึกษานโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลชุดใหม่ พบว่าการปรับขึ้นค่าแรงงาน 2 ส่วน คือการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และการปรับขึ้นค่าแรงในระดับปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น 28% โดยกลุ่มที่มีต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้นมากสุด คือ อาหาร, เครื่องดื่ม, ยาสูบ เพิ่มขึ้น 35.02% รองลงมาคือ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย 34.45% และกระดาษ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ และการพิมพ์ 22.39%

แต่หากแยกเป็นการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 39.5% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น 22.29% กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 32.97% อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 34.24% และกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและการพิมพ์ 26.97% ขณะที่การปรับค่าแรงระดับปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 36% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่ม 5.71% กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด กระดาษ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ และการพิมพ์ 5.44% สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 1.48% และอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ 0.78%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ