ส.อ.ท.แนะทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-ผ่านคกก.ไตรภาคี,แนะรัฐออกคูปองชดเชย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 12, 2011 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังหารือของสมาชิก ส.อ.ท.ในวันนี้ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลชุดใหม่เป็น 300 บาท/วัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน แต่ควรเป็นการทยอยปรับขึ้น

และที่สำคัญจะต้องผ่านกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายรัฐ ซึ่งมีการคำนวณอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมจาก 3 ปัจจัย คือ ค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่

"ส.อ.ท.ยอมรับที่จะนำเรื่องภาระความเป็นอยู่ของแรงงานมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาร่วมด้วย รวมถึงต้องมีความสมดุล กับต้นทุนผู้ประกอบการ และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย"นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.ด้านแรงงาน กล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเสนอแนวทางการออกคูปองชดเชยในสัดส่วน 70-80% ของส่วนต่างค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคูปองดังกล่าวสามารถนำไปใช้แทนเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐ เช่น ค่าสาธาณูปโภคต่างๆ หรือเงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอยู่ถึง 2 ล้านรายทั่วประเทศ เพราะหากภาครัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับอาจทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องปิดกิจการลงกว่า 50%

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. ด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่วันละ 220-240 บาท ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ