(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาที่ 3.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 13, 2011 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที พร้อมระบุแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น เหตุเงินเฟ้อยังสูงอยู่ และมีโอกาสหลุดเป้าในช่วงไตรมาส 3-ไตรมาส 4 แต่โอกาสน้อยลง

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ทั้งและนอกประเทศ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แต่มีความกังวลว่านโยบายรัฐบาลชุดใหม่จะเพิ่มแรงกดดันต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงภายใต้อุปสงค์ที่ขยายตัวดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยังควรปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์เร่งขึ้น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

“ดอกเบี้ยนโยบาย ขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเมื่อลบกับเงินเฟ้อยังอยู่ในแดนลบ ดังนั้นกระบวนการปรับดอกเบี้ยนโยบายยังมีอยู่" นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อในการประชุมครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อน แต่ที่แตกต่างเล็กน่อย คือการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ดังนั้นโอกาสที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะหลุดกรอบเป้าหมายของธปท. ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ยังมี เพียงแต่โอกาสลดลง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังดำเนินต่อไปได้ จากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและลงทุน โดยจากการสำรวจภาคธุรกิจ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การลงทุนยังขยายตัวดี การส่งออกในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาก็ยังดี ดังนั้นคาดว่าในครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งต่อเนื่อง ประกอบกับ ยังมีอุปสงการใช้จ่ายของรัฐบาลเข้ามากระตุ้น ดังนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้ ในครึ่งแรกของปี เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และปัญหาการผลิตในภาคยานยนต์จากผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายลงในครึ่งหลังของปี ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด

ด้านเศรษฐกิจยุโรปยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของประเทศหลัก โดยปัญหาหนี้สาธารณะยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป สำหรับเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก แต่ในระยะต่อไป คาดว่าการขยายตัวอาจชะลอลงบ้างจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/54 ยังขยายตัวได้ จากแรงขับเคลื่อนหลักทั้งอุปสงค์ในประเทศการส่งออก รวมทั้งแรงกระตุ้นด้านการคลังที่ยังมีต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์คลี่คลายลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้การผลิตฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.มองไปข้างหน้าการบริโภคและการลงทุนยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการจ้างงานและสินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์ดีรวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากราคาพลังงานและการปรับราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปที่ยังมีอยู่ แม้การต่ออายุมาตรการดูแลค่าครองชีพออกไป จะชะลอการเร่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อออกไป

แต่มาตรการต่างๆ รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะข้างหน้า ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดี จะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมต่อแรงกดดันด้านราคา และอาจส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวมากขึ้น

"ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนทุกด้านของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมากน้อยแค่ไหน แต่เรื่องค่าจ้างมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ" นายไพบูลย์ กล่าว

ธปท.เห็นว่ากรอบวินัยความยั่งยืนด้านการคลังเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น ควรจะเรียงลำดับความสำคัญของโครงการที่จะทำเพราะประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่จำกัด ซึ่ง กนง. มองการใช้จ่ายทางด้านการคลังควรจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านผลผลิตและการแข่งขันของประเทศ เป็นอันดับแรกเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งค่าจ้างแรงงานยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ