นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค) เปิดเผยว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้เดือนมิถุนายนสูงกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 1.8 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 109,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,065 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.0) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 5,474 ล้านบาท 3,476 ล้านบาท และ 1,544 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,558 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราว
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มิถุนายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,386,281 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 181,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของทุกหน่วยงานสูงกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพากร รองลงมาได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 138,739 ล้านบาท 21,629 ล้านบาท 9,431 ล้านบาท และ 11,805 ล้านบาท ตามลำดับ
"จากการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาที่สูงกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2554 นี้ รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เป็นจำนวนกว่า 1.8 ล้านล้านบาทซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย (1.65 ล้านล้านบาท) ในอัตราที่ค่อนข้างสูง และส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว"นายนริศ กล่าว
ด้านหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 80,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,080 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.6) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ 3,800 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ มีเงินรับคืนจากโครงการมิยาซาว่าและโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 1,952 ล้านบาท และ 445 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ สาเหตุที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 42,426 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วมีรายได้พิเศษจากการยึดทรัพย์ฯอดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 49,016 ล้านบาท
การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 169,269 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,082 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 130,542 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,458 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 และการคืนภาษีอื่นๆ 38,727 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,540 หรือร้อยละ 28.3
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ (12 งวด / ปี) จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว 6 งวด (ตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554) รวม 36,358 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 3,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0