(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิ.ย.ที่ 72.3 จาก 71.1 ในพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2011 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเดือนมิ.ย.54 ที่ 72.3 จาก 71.1 ในเดือนพ.ค.54 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 72.9 และ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 99.8

ดัชนีความเชื่อมั่นฯทั้ง 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.54 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ การเลือกตั้งส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความหวังจากรัฐบาลใหม่ที่จะมีแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับสูง, การส่งออกยังขยายตัวสูง, เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยลบคือ ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ, กังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ผู้บริโภคกังวลสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เหตุผลที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.54 ทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากประชาชนมีความหวังว่าหลังการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นได้ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง นอกจากนี้ เงินสะพัดในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.54 อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคยังต่ำกว่าระดับ 100 เป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะยาวอยู่

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคต เพราะมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและกลับมาบริโภคมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

"จากการเลือกตั้งครั้งนี้ คนเริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้นว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพ ทำให้มีความหวังต่อรายได้ในอนาคต และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเข้าใกล้ระดับ 100 ซึ่งถ้าการเมืองนิ่ง และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี การบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้นและเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น การลงทุนจะขยายตัวตาม ถือว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลก"นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ