นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเป็นห่วงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท เพราะภาคเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมากวิตกกังวลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SMEs) ที่จะได้รับผลกระทบหนักจนอาจต้องลดแรงงานและล้มเลิกกิจการได้
"เท่าที่คุยกับหอการค้าญี่ปุ่น บอกเลยว่าบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นจ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่เขาเกรงว่าถ้าขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนมากเป็น SMEs และอาจทำให้กลุ่มนี้ต้องล้มหายตายจาก และบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นแทน รวมทั้งอาจย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เช่น อินโดนีเซีย เพราะมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาก"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไปสำรวจสมาชิกหอการค้าไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SMEs ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททันที รวมถึงแนวทางที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวหรือหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมมากกว่านี้
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทจะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก โดยประเมินว่าผู้ประกอบการจะต้องใช้เงินสูงถึงปีละ 140,000 ล้านบาทในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันตามนโยบายของรัฐบาลใหม่
จำนวนนี้ยังไม่รวมจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับขึ้นให้กับผู้จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท/เดือนอีก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะลดลงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมแน่นอน
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศนั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากนโยบายเบื้องต้นของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาดูแลเรื่องโครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้านั้น เชื่อว่ารัฐบาลใหม่อาจจะเจรจากับผู้ผลิตเพื่อขอความร่วมมือในการช่วยตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กดดันให้ราคาบิดเบือนไปจากกลไกตลาด
ขณะเดียวกันมาตรการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราวน จะช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง และเมื่อน้ำมันที่เป็นต้นทุนสำคัญด้านขนส่งที่บวกไว้ในราคาสินค้าได้ปรับลดลงก็จะมีผลให้ราคาสินค้าไม่ปรับเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และดูแลเงินเฟ้อในระยะสั้นได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาสู่ระดับ 3.25% ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปจากกรอบที่วางไว้ได้
"จากเหตุผลทั้งหมดนี้ เชื่อว่าระดับเงินเฟ้อในปีนี้คงจะไม่เกิน 4%" นายธนวรรธน์ กล่าว